การศึกษาระดับความรู้ การรับรู้ และพฤติกรรมการดำเนินงานควบคุม ป้องกันโรคไข้เลือดออกของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
บทคัดย่อ
บทนำ: สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกยังพบว่ามีการระบาดต่อเนื่องทุกปี การดำเนินงานควบคุมโรคที่สำคัญ คือ การที่ประชาชนและทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมป้องกันโรค โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นแกนหลักในการดำเนินงานและเป็นกำลังสำคัญในการปฏิบัติงานเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาระดับความรู้ การรับรู้ และพฤติกรรมการดำเนินงานในการป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออก ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
วิธีการศึกษา: การศึกษาแบบ Analytic cross-sectional study ศึกษาในกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 315 คน เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม 2562-กันยายน 2563 โดยใช้แบบสอบถามระดับความรู้ การรับรู้ และพฤติกรรมการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ในการหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับความรู้ การรับรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก และพฤติกรรมการดำเนินงานควบคุม ป้องกันโรคไข้เลือดออก วิเคราะห์ด้วย Spearman Correlation
ผลการศึกษา: พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อเดือนมีความสัมพันธ์ปานกลางเชิงบวกกับระดับความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกของ อสม. (r=0.130) และความถี่ในการได้รับการอบรมฟื้นฟูให้ความรู้ด้านสุขภาพ และสาธารณสุข มีความสัมพันธ์ปานกลางเชิงลบกับระดับความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกของ อสม. (r=-0.122)
สรุป: การพัฒนาศักยภาพของ อสม. ให้มีความรู้ การรับรู้ และพฤติกรรมป้องกันโรคไข้เลือดออก และพัฒนาจนเกิดทักษะ เกิดความชำนาญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี จึงสามารถควบคุมโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำสำคัญ: ความรู้, การรับรู้, พฤติกรรม, โรคไข้เลือดออก, อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)