การพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับการป้องกันและการดูแลหญิงตั้งครรภ์ ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด โรงพยาบาลแพร่

ผู้แต่ง

  • ทิพย์วรรณ ประสาสน์ศักดิ์ โรงพยาบาลแพร่
  • วิรัชนี สุขวัฒนานนท์ โรงพยาบาลแพร่
  • ศศิธร อินทุดม โรงพยาบาลแพร่

บทคัดย่อ

บทนำ:               การเจ็บครรภ์และการคลอดก่อนกำหนดเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและมีผลกระทบต่อมารดาและทารก การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุหลักของการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานานของสตรีมีครรภ์ ที่นำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการตายปริกำเนิด และภาวะทุพพลภาพ การพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกเป็นเครื่องมือสำคัญที่ตั้งอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีการทบทวนอย่างเป็นระบบทำให้การปฏิบัติเป็นไปในทิศทางแนวเดียวกันช่วยให้เกิดประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่ดี ผู้วิจัยจึงพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับการป้องกันและการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดซึ่งคาดว่าจะช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้

วัตถุประสงค์:     เพื่อศึกษาผลของการพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับการป้องกันและการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด  โรงพยาบาลแพร่

วิธีการศึกษา:     เป็นการศึกษาเชิงเปรียบเทียบชนิด historical  controlled intervention study ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ก่อนที่เข้ามารับการฝากครรภ์แผนกฝากครรภ์ โรงพยาบาลแพร่ กลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ เก็บข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคม ถึงเดือนกันยายน 2562 จำนวน 30 ราย กลุ่มที่ได้รับการดูแลตามแนวปฏิบัติได้รับการนำแนวปฏิบัติไปทดลองก่อนใช้จริง จำนวน 3 ราย ปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมจากนั้นนำแนวปฏิบัติที่ได้ไปใช้กับผู้ป่วยระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน 2563 จำนวน 30 ราย เก็บข้อมูลเปรียบเทียบข้อมูลทั่วไปของทั้ง  2 กลุ่ม ด้วยจำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ Exact probability test, independent t-test และ Wilcoxon rank-sum test

ผลการศึกษา:      หญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ก่อนที่มารับบริการฝากครรภ์ แผนกฝากครรภ์โรงพยาบาลแพร่ จำนวน 60 ราย กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีจำนวนเท่ากันโดยทั้ง 2 กลุ่ม  มีอายุ ดัชนีมวลกาย ประวัติทางสูติกรรม ประวัติการเสพยาเสพติด และการรักษาที่ได้รับ ไม่แตกต่างกัน ข้อมูลการคลอด ได้แก่ เพศ วิธีการคลอด น้ำหนักทารกและการรักษาที่ได้รับ ไม่แตกต่างกัน เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการกลับมารักษาซ้ำภายใน 7 วัน และสัดส่วนทารกแรกเกิดขาดออกซิเจนไม่แตกต่างกัน (p=0.313, p=0.313) แต่สัดส่วนการเกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดที่ต้องนอนโรงพยาบาลและสัดส่วนการคลอดก่อนกำหนด พบว่า แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.017, p=0.010)

สรุป:                 แนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับการป้องกันและการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดสามารถลดอัตราการเกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดที่ต้องนอนโรงพยาบาลและการคลอดก่อนกำหนดได้

คำสำคัญ :          ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด, การคลอดก่อนกำหนด, แนวปฏิบัติทางคลินิก

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-09-03

วิธีการอ้างอิง