เปรียบเทียบทักษะการวินิจฉัยโรคจากภาพทางรังสีของนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ผู้แต่ง

  • ธนพล แซ่ตั้น
  • ปิยะพันธ์ คำขาว
  • พัชรากร คงขุน
  • วิชชุดา ลิมปิอังคนันต์ โรงพยาบาลแพร่

บทคัดย่อ

บทนำ:               ในอดีตการเรียนการสอนของคณะแพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก มหาวิทยาลัยนเรศวร เคยมีรายวิชารังสีวิทยาคลินิกบรรจุอยู่ในหลักสูตร แต่ปัจจุบันถูกยกเลิกไปและให้มีการสอนสอดแทรกในแต่ละรายวิชา สำหรับศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลแพร่ มีการสอนวิชารังสีเพิ่มเติมโดยรังสีแพทย์เฉพาะรายวิชา ซึ่งจำนวนชั่วโมงในการเรียนไม่เพียงพอ รวมทั้งเนื้อหาวิชารังสีวิทยาคลินิกเข้าใจได้ยาก และนิสิตแพทย์ยังไม่คุ้นเคยกับการดูภาพทางรังสี ทำให้นิสิตแพทย์ไม่มีความเข้าใจพื้นฐานทางรังสีวิทยา และเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ในชั้นคลินิก

วัตถปุระสงค์:      เพื่อเปรียบเทียบทักษะการวินิจฉัยภาพทางรังสีของนิสิตแพทย์แต่ละศูนย์แพทย์ฯ และประเมินทักษะความรู้ทางด้านรังสีวินิจฉัยของนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 ปีการศึกษา 2561 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

วิธีการศึกษา:      ศึกษาแบบ Analytic cross-sectional study ในนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 100 คน จากศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก ทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ศศค.รพ.แพร่, ศศค.รพ.พิจิตร, ศศค.รพ.สมเด็จตากสินมหาราช, ศศค.รพ.อุตรดิตถ์, ศศค.รพ.พุทธชินราช, ศศค.รพ.มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยทำแบบสดสอบทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมด 20 ข้อ โดยแบบทดสอบให้ตอบผลวินิจฉัยเป็นคำตอบสั้น ๆ (spot diagnosis) อธิบายข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างกลุ่มโดย t-test และ one-way ANOVA หาความสัมพันธ์โดย partial correlation วิเคราะห์ข้อมูลโดย unavailable Gaussian regression และ multivariable Gaussian regression

ผลการศึกษา:      จำนวนชั่วโมงในการเรียนการสอนเพิ่มเติมโดยรังสีแพทย์ของศูนย์แพทย์ฯ แต่ละแห่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value <0.001) และคะแนนเฉลี่ยจากการทำแบบทดสอบของศูนย์แพทย์ฯ ทั้ง 6 แห่ง กับจำนวนชั่วโมงในการเรียนการสอบเพิ่มเติมโดยรังสีแพทย์มีความสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (R 0.38, p-value <0.001) โดยจำนวนชั่วโมงที่เพิ่มขึ้น 1 ชั่วโมงจากการเรียนเพิ่มเติมโดยรังสีแพทย์ ทำให้คะแนนจากการทำแบบทดสอบเพิ่มขึ้น 0.25 คะแนน (95%CI 0.13-0.38, p-value <0.001)

สรุป:                 หากมีจำนวนชั่วโมงเรียนวิชารังสีวิทยาเพิ่มเติมโดยรังสีแพทย์อย่างเพียงพอจะทำให้นิสิตแพทย์มีทักษะการวินิจฉัยโรคจากภาพทางรังสีที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถนำข้อมูลจากการวิจัยมาวางแผนในการจัดการเรียนการสอนในชั้นคลินิกของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรต่อไป

คําสําคัญ:           รังสีวิทยาคลินิก, ทักษะทางรังสี, Radiology

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-09-03

วิธีการอ้างอิง