ปัจจัยที่สัมพันธ์กับพัฒนาการสงสัยล่าช้าของเด็กปฐมวัยกลุ่มเสี่ยง

ผู้แต่ง

  • ธิดา สีสด โรงพยาบาลสูงเม่น

บทคัดย่อ

บทนำ:            เด็กปฐมวัยกลุ่มเสี่ยง คือ เด็กแรกเกิดที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม หรือเด็กแรกเกิดที่มีภาวะขาดออกซิเจน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เสี่ยงที่จะมีพัฒนาการล่าช้า การคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัยกลุ่มเสี่ยงจะสามารถค้นหาปัญหาและส่งเสริมแก้ไขตั้งแต่ในระยะแรกมีผลให้เด็กได้รับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสม

วัตถุประสงค์:    เพื่อศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับพัฒนาการสงสัยล่าช้าของเด็กปฐมวัยกลุ่มเสี่ยงที่รับบริการตรวจ คัดกรองพัฒนาการในคลินิกสุขภาพเด็กดี โรงพยาบาลสูงเม่น จังหวัดแพร่

วิธีการศึกษา:    การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้เป็นการศึกษาย้อนหลัง เพื่อรวบรวมข้อมูลและศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับพัฒนาการสงสัยล่าช้าของเด็กปฐมวัยกลุ่มเสี่ยง กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กปฐมวัยกลุ่มเสี่ยงที่มีพัฒนาการสงสัยล่าช้าจำนวน 102 คน ซึ่งเข้ารับบริการที่คลินิกเด็กดี โรงพยาบาล  สูงเม่น จังหวัดแพร่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557–31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 โดยเลือกแบบเฉพาะเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบบันทึกข้อมูลจากการตรวจ คัดกรองพัฒนาการในคลินิกสุขภาพเด็กดี ระบบเวชระเบียนโรงพยาบาล และโปรแกรมบันทึกข้อมูลพัฒนาการเด็ก วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าความถี่ ร้อยละ และวิเคราะห์ความสัมพันธ์โดยใช้การทดสอบไคสแควร์

ผลการศึกษา:    พบว่า เด็กกลุ่มนี้มีพัฒนาการสงสัยล่าช้าด้านการเคลื่อนไหวมากที่สุดร้อยละ 47.06 และมีพัฒนาการสงสัยล่าช้ามากกว่า 1 ด้าน ถึงร้อยละ 17.65 ปัจจัยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วง 6 เดือนแรกและการเล่านิทาน มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการสงสัยล่าช้าโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

สรุป:              ผลการศึกษาครั้งนี้จึงสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ใน 6 เดือนแรก และแนะนำให้เล่านิทานให้เด็กฟังเพื่อสร้างเสริมพัฒนาการในเด็ก

คำสำคัญ:        เด็กปฐมวัย, พัฒนาการสงสัยล่าช้า, การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, การเล่านิทาน

เผยแพร่แล้ว

2021-09-03

วิธีการอ้างอิง