การพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการตรวจคัดกรองโรคซึมเศร้า ตำบลสรอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่

ผู้แต่ง

  • อมรพันธุ สมร แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน (แขนงสุขภาพจิตชุมชน) โรงพยาบาลวังชิ้น
  • สืบตระกูล ตันตลานุกุล อาจารย์พยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์

บทคัดย่อ

บทนำ:            ภาวะซึมเศร้าเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายและเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก จากการเก็บข้อมูลของงานสุขภาพจิตและยาเสพย์ติดอำเภอวังชิ้น พบการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มสูงขึ้น กระบวนการพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อให้การตรวจคัดกรองโรคซึมเศร้ามีความครอบคลุมประชากรกลุ่มเสี่ยงมากขึ้น จะช่วยลดอัตราป่วย อัตราตาย จากโรคซึมเศร้าได้

วัตถุประสงค์:    เพื่อพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการตรวจคัดกรองโรคซึมเศร้า ตำบลสรอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ และศึกษาผลลัพธ์ของการพัฒนาศักยภาพของ  อสม.

วิธีการศึกษา:    การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เป็นการศึกษาจากประชากรทั้งหมด ได้แก่  อสม.จำนวน 71 คน และประชากรที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป จำนวน 1,118 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาบริบทชุมชน และเครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการพัฒนาศักยภาพของ อสม. วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดย แจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบความแตกต่างความรู้เรื่องโรคซึมเศร้า ความสามารถในการโน้มน้าวชักจูงใจ ทักษะการตรวจคัดกรองโรคซึมเศร้า ด้วยสถิติทดสอบค่าเฉลี่ยหนึ่งกลุ่มตัวอย่าง และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการศึกษา:    ตำบลสรอย เป็นชุมชนชนบทประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้ให้กับครอบครัว ทำให้ขาดความสนใจในการตรวจคัดกรองโรคซึมเศร้า ผลการตรวจคัดกรองโรคซึมเศร้าในประชากรอายุ 35 ปีขึ้นไป ในปี พ.ศ. 2560 ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเพียงร้อยละ 50 อสม. ส่วนใหญ่มีความรู้เรื่องโรคซึมเศร้าอยู่ในระดับปานกลาง มีความสามารถในการโน้มน้าวชักจูงใจอยู่ในระดับต่ำ และไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินทักษะในการตรวจคัดกรองโรคซึมเศร้าทุกกิจกรรม

สรุป:              การตรวจคัดกรองโรคซึมเศร้าเป็นกระบวนการทำงาน และเรียนรู้ร่วมกันของเจ้าหน้าที่ อสม. ประชากรกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยมีบริบทของชุมชนเป็นฐาน และปฏิบัติการเชิงรุกเป็นวงจรต่อเนื่อง จะส่งผลให้กระบวนการตรวจคัดกรองโรคซึมเศร้ามีความครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด และยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของ อสม. ในการดำเนินการตรวจคัดกรองโรคเรื้อรังอื่นๆ ในชุมชนได้ต่อไป

คำสำคัญ:        การพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน, การตรวจคัดกรอง, โรคซึมเศร้า

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-08-20

วิธีการอ้างอิง