ประสิทธิผลของการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มซ้ำในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกสะโพกหัก โรงพยาบาลลำพูน

ผู้แต่ง

  • แสงเดือน ศิริ โรงพยาบาลลำพูน

บทคัดย่อ

บทนำ:               ภาวะกระดูกสะโพกหัก เป็นอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

วัตถุประสงค์:     เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิก และประสิทธิผลของการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิก เพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มซ้ำในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกสะโพกหัก โรงพยาบาลลำพูน

วิธีการศึกษา:      กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติงานในกลุ่มงานการพยาบาลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลลำพูน จำนวน 24 คน  และผู้ป่วยผู้สูงอายุที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกและข้อชาย หอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกหญิงและเด็ก โรงพยาบาลลำพูน ในระหว่างเดือนสิงหาคม–กันยายน พ.ศ. 2562 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ได้แก่ แนวปฏิบัติการพยาบาล เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย และประวัติการพลัดตกหกล้มของผู้ป่วยแบบบันทึกอุบัติการณ์การเกิดการพลัดตกหกล้ม แบบประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วย และแบบประเมินความพึงพอใจของทีมผู้ดูแล วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ด้วยค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบฟิชเชอร์ (Fisher’s exact propability test)

ผลการศึกษา:     การพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกเป็นกิจกรรมที่พัฒนาขึ้นตามกรอบแนวคิดการพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกของสภาวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพแห่งชาติของประเทศออสเตรเลีย (National Health and Medical Research Council; NHMRC) ร่วมกับการทบทวนหลักฐานเชิงประจักษ์ ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การพิทักษ์สิทธิผู้ป่วยและจริยธรรม 2) การประเมินภาวะเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม 3) การให้กิจกรรมเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้ม 4) การให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการพลัดตกหกล้ม 5) การดูแลอย่างต่อเนื่อง การบันทึกและสื่อสารแก่ทีมผู้ดูแล และ 6) การพัฒนาคุณภาพ การบริการ ในด้านประสิทธิผลของแนวทางปฏิบัติทางคลินิก พบว่า อุบัติการณ์การเกิดการพลัดตก  หกล้มซ้ำหลังการใช้แนวทางปฏิบัติทางคลินิกเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มซ้ำในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกสะโพกหัก โรงพยาบาลลำพูนลดลง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยมีความพึงพอใจต่อการพยาบาลโดยใช้แนวปฏิบัติทางคลินิก อยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.39) และทีมผู้ดูแลมีความพึงพอใจต่อแนวปฏิบัติทางคลินิกอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.26)

สรุป:                 การพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มซ้ำในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกสะโพกหักเป็นกระบวนการพัฒนาคุณภาพของการบริการที่มุ่งประสิทธิภาพในด้านการลดอุบัติการณ์ของการพลัดตกหกล้มซ้ำในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกสะโพกหัก และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ทีมผู้ดูแลในการพยาบาลผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกสะโพกหักจากหลักฐานเชิงประจักษ์

คำสำคัญ:         แนวปฏิบัติทางคลินิก, การพลัดตกหกล้มซ้ำ, ภาวะกระดูกสะโพกหัก

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-08-30

วิธีการอ้างอิง