ประสิทธิผลของการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยเด็กโรคปอดอักเสบโรงพยาบาลแพร่

ผู้แต่ง

  • วราภรณ์ ผาทอง โรงพยาบาลแพร่
  • รัตนาภรณ์ ภุมรินทร์ โรงพยาบาลแพร่
  • ศิริขวัญ สุธรรมกิตติคุณ โรงพยาบาลแพร่
  • ชื่นจิตต์ สมจิตต์ โรงพยาบาลแพร่

บทคัดย่อ

บทนำ:            โรคปอดอักเสบเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจในเด็กที่สำคัญและพบบ่อยที่สุด ปัญหาการกลับมารักษาซํ้าพบว่าเกิดจากผู้ดูแลขาดความรู้ ทักษะ และการปฏิบัติไม่ถูกต้องในการดูแลเด็ก การวางแผนจำหน่าย ด้วยหลัก D-METHOD และการส่งเสริมให้ผู้ดูแลมีการรับรู้สมรรถนะแห่งตน จะทำให้ผู้ดูแลสามารถดูแลผู้ป่วยเด็กโรคปอดอักเสบได้อย่างถูกวิธี ลดการกลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาล

วัตถุประสงค์:    เพื่อเปรียบเทียบผลของการดูแลผู้ป่วยเด็กโรคปอดอักเสบระหว่างกลุ่มที่ใช้การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยเด็กโรคปอดอักเสบกับกลุ่มที่ใช้การวางแผนจำหน่ายตามปกติ

วิธีการศึกษา:    รูปแบบการศึกษา Historical controlled design ศึกษาผู้ดูแลและผู้ป่วยเด็กโรคปอดอักเสบ อายุ 1 เดือน ถึง 15 ปี ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลแพร่ กลุ่มควบคุมเป็นกลุ่มที่ใช้การวางแผนจำหน่ายตามปกติ ศึกษาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 จำนวน 47 ราย กลุ่มทดลองเป็นกลุ่มที่ใช้การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยเด็กโรคปอดอักเสบ ศึกษาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 จำนวน 30 ราย วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปด้วยสถิติเชิงพรรณนาได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่ม ด้วยสถิติ exact probability test และ t-test เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคะแนนการรับรู้สมรรถนะแห่งตนก่อนและหลังการวางแผนจำหน่าย โดยใช้สถิติ paired t-test

ผลการศึกษา:    ผู้ป่วยเด็กโรคปอดอักเสบ กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีเพศไม่แตกต่างกัน แต่กลุ่มทดลองมีอายุเฉลี่ยน้อยกว่า ทั้ง 2 กลุ่ม ส่วนใหญ่มาด้วยอาการไข้ ไอ หอบ ได้รับออกซิเจน ยาพ่น และยาปฏิชีวนะ ไม่แตกต่างกัน กลุ่มทดลองมีจำนวนวันนอนเฉลี่ยน้อยกว่า (3.5±1.3 VS 4.5±2.2, p=0.031) กลุ่มควบคุมมีการกลับมารักษาซ้ำร้อยละ 14.9 แต่ไม่พบการกลับมารักษาซ้ำในกลุ่มทดลอง (p=0.039) ผู้ดูแลกลุ่มที่ใช้การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยเด็กโรคปอดอักเสบ มีคะแนนเฉลี่ยการรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการดูแลผู้ป่วยเด็กโรคปอดอักเสบหลังการใช้มากกว่าก่อนการใช้แผนการจำหน่าย (4.2±0.1 VS 3.5±0.1, p<0.001) ผู้ดูแลมีความพึงพอใจในบริการพยาบาลในระดับมาก

สรุป:              การใช้แผนการจำหน่ายในผู้ป่วยเด็กโรคปอดอักเสบ สามารถลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล การกลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาล ทำให้ผู้ดูแลสามารถดูแลผู้ป่วยเด็กโรคปอดอักเสบได้อย่างถูกวิธี และมีความพึงพอใจในบริการพยาบาล

คำสำคัญ:        การวางแผนจำหน่าย, ผู้ป่วยเด็กโรคปอดอักเสบ

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-09-03

วิธีการอ้างอิง