ผลของภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ที่ไตรมาสต่างๆ ต่อการเกิดทารกแรกคลอดครบกำหนดน้ำหนักน้อยในโรงพยาบาลแพร่
บทคัดย่อ
บทนำ: ทารกแรกคลอดน้ำหนักน้อยเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ทารกกลุ่มนี้จะมีอัตราการตายและการเจ็บป่วยสูงกว่าทารกที่มีน้ำหนักแรกคลอดปกติ อีกทั้ง ยังพบ ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังอื่น ๆ ในอนาคต ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาทารกน้ำหนักตัวน้อย คือ ภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการ คลอดก่อนกำหนด Apgar score ต่ำ และการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ ซึ่งในปัจจุบัน พบว่าการศึกษาถึงผลของภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ชาวไทยยังมีน้อย และ ยังไม่มีการศึกษาในหญิงตั้งครรภ์ที่ฝากครรภ์และคลอดที่โรงพยาบาลแพร่
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ต่อน้ำหนักตัวของทารกแรกเกิดที่คลอด ในโรงพยาบาลแพร่
วิธีการศึกษา: การศึกษา Etiologic research รูปแบบ Retrospective cohort study ในหญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์และคลอดบุตรที่โรงพยาบาลแพร่ ตั้งแต่กันยายน พ.ศ. 2562 ถึง เมษายน พ.ศ. 2563 จำนวน 542 ราย ศึกษาผลของภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ในแต่ละไตรมาสต่อการเกิดทารกน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีภาวะ โลหิตจาง การวิเคราะห์โดยใช้ Multivariable logistic regression และ 95% confidence interval
ผลการศึกษา: กลุ่มมารดาที่มีภาวะโลหิตจางที่ไตรมาสแรกและไตรมาสที่สาม มีความเสี่ยงเป็น 2.78 และ 3.47 เท่า ตามลำดับ เมื่อเทียบกับกลุ่มมารดาที่ไม่มีภาวะโลหิตจางอย่างมีนัย สำคัญทางสถิติ (95% CI ; 1.12-6.28 และ 1.56-7.03 ตามลำดับ) และเมื่อปรับอิทธิพลของตัวแปร พบว่า กลุ่มมารดาที่มีภาวะโลหิตจางที่ไตรมาสแรกและไตรมาสที่ สาม มีความเสี่ยงเป็น 3.10 และ 3.43 เท่า ตามลำดับ เมื่อเทียบกับกลุ่มมารดาที่ไม่มีภาวะโลหิตจางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (95% CI ; 1.17-7.61 และ 1.44-7.83 ตามลำดับ)
สรุป: กลุ่มมารดาที่มีภาวะโลหิตจางที่ไตรมาสแรกเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดทารกแรกคลอดครบกำหนดน้ำหนักตัวน้อย ควรแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรมาฝากครรภ์ครั้ง แรกก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์
คำสำคัญ: ภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์, ทารกแรกคลอดน้ำหนักน้อย