ผลของการใช้พลาสเตอร์ปิดขอบหน้ากากอนามัย (Surgical Mask)ขณะผ่าตัดตาต่อความ ปลอดภัยและความสุขสบายของผู้ป่วย ในโรงพยาบาลแพร่

ผู้แต่ง

  • ปิยะฉัตร กาศแสวง กลุ่มงานการพยาบาลผู้ป่วยห้องผ่าตัด โรงพยาบาลแพร่

บทคัดย่อ

บทนำ:             การใช้พลาสเตอร์ปิดขอบหน้ากากอนามัย (Surgical Mask) ขณะผ่าตัดตาเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการผ่าตัดตามแผนการรักษาที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและปลอดภัย รวมถึงมีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อทางเดินหายใจจากผู้ป่วยและบุคลากรในขณะผ่าตัดร่วมด้วยเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

วัตถุประสงค์:  เพื่อศึกษาผลของการใช้พลาสเตอร์ปิดขอบหน้ากากอนามัย (Surgical Mask) ขณะผ่าตัดตาต่อความปลอดภัยและความสุขสบายของผู้ป่วย ในโรงพยาบาลแพร่

วิธีการศึกษา:  การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi-experimental research) ชนิดสองกลุ่มวัดก่อนและหลังการทดลอง (Two group pre-Posttest design) กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก ในห้องผ่าตัดโรงพยาบาลแพร่ จำนวนทั้งหมด 60 คน โดยให้กลุ่มทดลองปิดขอบหน้ากากอนามัย (Surgical Mask) ขณะผ่าตัดตาจำนวน 30 คน และกลุ่มควบคุมไม่ใช้พลาสเตอร์ปิดขอบหน้ากากอนามัย (Surgical Mask) ขณะผ่าตัดตาจำนวน 30 คนหลังจากนั้นวัดระดับออกซิเจนในเม็ดเลือดแดง ระดับความสุขสบาย และขนาดของไอน้ำจากการหายใจ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย ชุดแบบสอบถามจำนวน 4 ส่วน วิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลพื้นฐานด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างกลุ่ม ด้วยสถิติ  Chi-square และ Independent t-test วิเคราะห์ความแตกต่างก่อนและหลังการทดลองโดยใช้ paired t-test หรือ signed-rank test

ผลการศึกษา:  หลังการทดลองกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง ขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัดมีผลระดับออกซิเจนในเม็ดเลือดแดงแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.689)ระดับความสุขสบายในกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ(p=0.759) และพบว่าตำแหน่งและขนาดของไอน้ำจากการหายใจที่อยู่บนพลาสติกส่วนใหญ่ของทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างกันคือ กลุ่มควบคุมส่วนใหญ่พบบริเวณบนขอบหน้ากากอนามัย(Surgical Mask)ในขณะที่กลุ่มทดลอง ส่วนใหญ่พบบริเวณใต้ขอบหน้ากากอนามัย(Surgical Mask)(p< 0.001) และพบความแตกต่างของขนาดพื้นที่ไอน้ำจากการหายใจที่อยู่บนพลาสติกหลังผ่าตัด โดยกลุ่มควบคุมส่วนใหญ่จะมีขนาดพื้นที่ไอน้ำมากกว่า (p< 0.001)

สรุป:                การใช้พลาสเตอร์ปิดขอบหน้ากากอนามัย (Surgical Mask) ขณะผู้ป่วยผ่าตัดตา ไม่มีผลต่อระดับออกซิเจนในเม็ดเลือดแดงและระดับความสุขสบายของผู้ป่วยขณะผ่าตัดตา แต่กลับเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันละอองไอน้ำจากการหายใจไหลย้อนขึ้นไปใกล้บริเวณที่ผ่าตัดตา และช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากการหายใจของผู้ป่วยสู่บุคลากร

คำสำคัญ:        การผ่าตัดตา, ความปลอดภัยของผู้ป่วย, การสวมหน้ากากอนามัย, การพัฒนานวัตกรรม

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-09-08

วิธีการอ้างอิง