ปัจจัยพยากรณ์ที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดภาวะกำเริบเฉียบพลัน ในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
บทคัดย่อ
บทนำ: โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease, COPD) เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขทั่วโลก และในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งหากมีผู้ป่วย COPD มี ภาวะกำเริบเฉียบพลันจะเป็นภาระต่อค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาปัจจัยพยากรณ์ที่สัมพันธ์กับการเกิดภาวะกำเริบเฉียบพลันในผู้ป่วย COPD และศึกษาความแตกต่างของค่าเฉลี่ยของจำนวนครั้งในการเกิดภาวะกำเริบเฉียบพลันในผู้ป่วย COPD ที่จำแนกตาม COPD GOLD group A, B, C และ D
วิธีการศึกษา: การศึกษา Prognostic factor research แบบ exploratory analysis รูปแบบ Retrospective cohort ศึกษาที่ห้องฉุกเฉิน หอผู้ป่วยอายุรกรรม และคลินิก COPD โรงพยาบาลแพร่ เก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัย COPD และเข้ารับการรักษาต่อเนื่องที่ คลินิก COPD ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 จำนวน 270 ราย ศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัจจัยพยากรณ์กับกลุ่มที่ไม่มีปัจจัยพยากรณ์ ติดตามประเมินอุบัติการณ์การเกิดภาวะกำเริบเฉียบพลัน วิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของปัจจัยพยากรณ์กับความเสี่ยงการเกิดภาวะกำเริบเฉียบพลัน และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของจำนวนครั้งในการเกิดภาวะกำเริบเฉียบพลันในแต่ละกลุ่ม จำแนกตาม COPD GOLD group
ผลการศึกษา: การเกิดภาวะกำเริบเฉียบพลันในผู้ป่วย COPD ที่มีโรคปอดอักเสบในระหว่างการศึกษาและเคยเกิดภาวะกำเริบเฉียบพลันในช่วง 1 ปีก่อนหน้านี้ มีความเสี่ยงเป็น 4.626 และ 4.414 เท่า ตามลำดับ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีปัจจัยดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและเมื่อปรับอิทธิพลของตัวแปร อายุ เพศ ดัชนีมวลกาย การสูบบุหรี่ การเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดอักเสบ
สรุป: การติดเชื้อ และ COPD group ที่เปลี่ยนแปลงไป เพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะกำเริบเฉียบพลัน ดังนั้นจึงควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและควรแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกำเริบเฉียบพลัน
คำสำคัญ: โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, อาการกำเริบเฉียบพลัน, กลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง