ประสิทธิผลของโปรแกรม Phrae FLS เพื่อลดอุบัติการณ์กระดูกหักซ้ำในผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก โรงพยาบาลแพร่
บทคัดย่อ
บทนำ: ภาวะกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การลดภาวะกระดูกหักซ้ำถือเป็นสิ่งสำคัญ มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ มีการใช้โมเดล Fracture Liaison service (FLS) ซึ่งใช้กำกับดูแลผู้ป่วยข้อสะโพกหัก เพื่อป้องกันหักซ้ำ โรงพยาบาลแพร่มีการใช้โปรแกรม Phrae FLS เพื่อลดอุบัติการณ์กระดูกหักซ้ำ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการได้รับโปรแกรม Phrae FLS ในผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักเปรียบเทียบกับกลุ่มที่รักษาปกติต่ออุบัติการณ์กระดูกหักซ้ำโรงพยาบาลแพร่
วิธีการศึกษา: รูปแบบการศึกษา Efficacy Research ชนิด non-RCT ศึกษาผู้ป่วยข้อสะโพกหักอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปที่ได้รับการผ่าตัดด้วยภาวะกระดูกหักจากภยันตรายที่ไม่รุนแรง ทุกราย กลุ่มควบคุมจำนวน 47 ราย ได้รับการดูแลตามปกติ กลุ่มทดลองจำนวน 50 ราย เข้าคลินิกป้องกันหักซ้ำ ได้รับโปรแกรม Phrae FLS ป้องกันหกล้ม หลังผ่าตัด 1 ปี ศึกษาตั้งแต่เดือนเมษายน 2561- เมษายน 2564 วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปด้วยสถิติเชิงพรรณนา เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่ม ด้วยสถิติ exact probability test และ t-test
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยข้อสะโพกหัก กลุ่มได้รับโปรแกรม Phrae FLS และกลุ่มไม่ได้รับโปรแกรมมีลักษณะทั่วไปและลักษณะทางคลินิกส่วนใหญ่ไม่แตกต่างกัน เมื่อติดตามหลังผ่าตัด 1 ปี ทั้ง 2 กลุ่ม มีลักษณะที่แตกต่างกัน ได้แก่ คะแนนความเสี่ยงต่อการหกล้ม (Fall score) (p=0.013) ระดับ albumin ในเลือด (p=0.013) คะแนน Barthel Index (p<0.001) Time up and go (p=0.010) การประเมินการทรงตัว (Balance test) (p=0.001) กลุ่มได้รับโปรแกรม Phrae FLS ไม่พบกระดูกหักซ้ำภายใน 1 ปี ส่วนกลุ่มไม่ได้รับโปรแกรม พบกระดูกหักซ้ำ ร้อยละ 6.4 (p=0.110)
สรุป: โปรแกรม Phrae FLS ได้ใช้รูปแบบสหปัจจัย เพื่อลดความเสี่ยงจากการหกล้มในผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักโรงพยาบาลแพร่ ได้ผลดี ซึ่งมีผลต่อการลดอุบัติการณ์การเกิดกระดูกหักซ้ำและผู้ป่วยสามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติ
คำสำคัญ: โปรแกรม Phrae FLS, กระดูกสะโพกหัก, กระดูกหักซ้ำ