การพัฒนารูปแบบการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยผ่าตัดข้อเข่าเทียมโรงพยาบาลแพร่

ผู้แต่ง

  • มัลวีร์ สมบุตร
  • อรทัย วงค์ขันธ์
  • พิมวรา หนองแส

บทคัดย่อ

บทนำ:   โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นปัญหาเรื้อรังและพบบ่อยในผู้สูงอายุ การรักษาทำได้โดยการผ่าตัดเปลี่ยน ข้อเข่าเทียม หากผู้ป่วยได้รับการวางแผนจำหน่ายที่ดี จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ส่งผลต่อการฟื้นฟูสภาพหลังการผ่าตัดได้เร็วขึ้น ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังผ่าตัด

วัตถุประสงค์:    เพื่อเปรียบเทียบผลของการวางแผนจำหน่ายแบบใหม่กับแบบเดิม ในการดูแลผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

วิธีการศึกษา:    รูปแบบการศึกษา  Interrupted time design  ศึกษาในหอผู้ป่วยสงฆ์อาพาธ ศัลยกรรมกระดูกหญิงและศัลยกรรมกระดูกชาย โรงพยาบาลแพร่ กลุ่มวางแผนจำหน่ายแบบเดิม ศึกษาตั้งแต่เดือน เมษายน 2561  ถึงเดือนมิถุนายน 2561 จำนวน 22 ราย กลุ่มวางแผนจำหน่ายแบบใหม่ ศึกษาตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2561  ถึงเดือนกันยายน 2561  จำนวน 22 ราย  เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ สื่อวีดีทัศน์ คู่มือการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม แบบแผนการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเทียม (D M-E-T-H-O-D) แบบประเมินความรู้การปฏิบัติตัวเกี่ยวกับการผ่าตัดข้อเข่าเทียม และแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ป่วย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา  t-test, rank-sum test และ Exact probability test

ผลการศึกษา:    กลุ่มวางแผนจำหน่ายแบบเดิมและแบบใหม่มีค่าเฉลี่ยองศาการเหยียด องศาการงอและระดับอาการปวดไม่แตกต่างกัน ส่วนคะแนนเฉลี่ยหลังให้ความรู้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เท่ากับ 9.6±2.6 คะแนน และ 11.4±0.7 คะแนน (p=0.003) กลุ่มวางแผนจำหน่ายแบบเดิม ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 63.6 กลุ่มวางแผนจำหน่ายแบบใหม่มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากร้อยละ 59.1 (p<0.001)  

สรุป:   การใช้แนวปฏิบัติการวางแผนจำหน่ายร่วมกับการใช้สื่อวีดีทัศน์ในการสอนทักษะการดูแลที่จำเป็นให้กับผู้ป่วยและญาติ สามารถสร้างความมั่นใจในการดูแลตนเองได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

คำสำคัญ:  การวางแผนจำหน่าย,  การผ่าตัดข้อเข่าเทียม

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-10-10

วิธีการอ้างอิง