สถานการณ์การจัดบริการส่งเสริมสุขภาพช่องปากหญิงตั้งครรภ์และ เด็กปฐมวัย จังหวัดชุมพร ปี 2560-2564

ผู้แต่ง

  • สุเทพ ภูติประวรรณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชุมพร

คำสำคัญ:

การจัดบริการส ่งเสริมสุขภาพช ่องปาก, หญิงตั้งครรภ, เด็กปฐมวัย, การจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาสถานการณ์การจัดบริการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก และ 2) จัดทำข้อเสนอในการพัฒนาการจัดบริการส่งเสริมสุขภาพช่องปากหญิงตั้งครรภ์และเด็กปฐมวัยในจังหวัดชุมพร วิธีการศึกษาใช้ข้อมูลทุติยภูมิ การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากหญิงตั้งครรภ์และเด็กปฐมวัย จากแหล่งข้อมูล 2 ส่วนคือ คลังข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และ รายงานเฝ้าระวังทันตสุขภาพและปัจจัยเสี่ยง กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์และเด็กปฐมวัยที่ได้รับบริการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก เด็กอายุ 18 เดือนในคลินิกเด็กดี และเด็กอายุ 3 ปีในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติเชิงพรรณนา และการสัมภาษณ์ทันตบุคลากร วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการศึกษา พบว่าโรงพยาบาลและหน่วยบริการปฐมภูมิมีการจัดบริการส่งเสริมสุขภาพช่องปากหญิงตั้งครรภ์และเด็กปฐมวัย เด็กอายุ 18 เดือน มีแนวโน้มฟันผุลดลงจากร้อยละ 11.70 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 9.10 ในปี 2562 เด็กส่วนใหญ่ยังดื่มนมขวด บริโภคขนม 1-2 ครั้ง/วัน และผู้ปกครองแปรงฟันให้วันละ 1 ครั้ง ในเด็กอายุ 3 ปี แนวโน้มฟันผุเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49.30 เป็นร้อยละ 54.70 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจัดกิจกรรมแปรงฟันหลังอาหารกลางวัน ประมาณร้อยละ 96 และร้อยละ 25 ที่จัดอาหารว่างเป็นขนมกรุบกรอบ ศูนย์ทุกแห่งจัดผลไม้เป็นอาหารว่าง 3-5 วัน/สัปดาห์ จัดนมจืดให้เด็ก และตรวจสุขภาพช่องปากเด็ก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 100 ในปี 2562 เป็นการตรวจโดยครูผู้ดูแลเด็กร้อยละ 39.3 และโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร้อยละ 94.60 ข้อเสนอในการพัฒนาการจัดบริการคือ หน่วยบริการควรทำแผนจัดซื้อชุดแปรงสีฟันสำหรับฝึกปฏิบัติจริง และพัฒนาศักยภาพทันตบุคลากรในการรักษาเด็ก

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-08-15