ผลของการบำบัดเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจต่อคุณภาพชีวิตในการป้องกัน การกลับไปเสพซ้ำของผู้ติดแอมเฟตามีน

ผู้แต่ง

  • วัชลี อินต๊ะสงค์ โรงพยาบาลหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่

คำสำคัญ:

ผู้ติดสารแอมเฟตามีน, การบำบัดเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจ, โปรแกรมการบาบัดตามปกติคุณภาพชีวิต

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาผลของการบำบัดเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจต่อคุณภาพชีวิตในการป้องกันการกลับไปเสพซ้ำของผู้ติดแอมเฟตามีน เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง
กลุ่มตัวอย่าง คือผู้ติดแอมเฟตามีนที่เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพรูปแบบปกติ
ณ โรงพยาบาลหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ เลือกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองจำนวน 30 คน และกลุ่มควบคุม จำนวน 30 คน กลุ่มควบคุมได้รับการบำบัดรูปแบบปกติ (เมทริกซ์ โปรแกรม) ส่วนกลุ่มทดลองได้รับการบำบัดรูปแบบปกติร่วมกับโปรแกรมการบำบัดเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจ วัดผลก่อนและหลังการทดลองและระยะติดตามผล 12 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อฉบับภาษาไทย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณา, การทดสอบของฟิชเชอร์ และการวิเคราะห์ความแปรปรวนเมื่อมีการวัดซ้ำภายในกลุ่ม

        ผลการศึกษาพบว่า ในภาพรวมคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมในระยะก่อนทดลองต่ำกว่าระยะหลังทดลองและระยะติดตามผล 12 สัปดาห์ ทั้ง 4 ด้าน และเมื่อทำการวัดซ้ำภายในกลุ่มพบว่ากลุ่มทดลองมีคะแนนคุณภาพชีวิตในระยะหลังการทดลองและติดตามผล 12 สัปดาห์ เพิ่มขึ้นมากกว่าระยะก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีคะแนนคุณภาพชีวิตในระยะติดตามผล 12 สัปดาห์ เพิ่มขึ้นมากกว่าระยะก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) แต่ในระยะก่อนการทดลองและหลังการทดลองมีคะแนนคุณภาพชีวิตไม่แตกต่างกัน (p>0.05) และเมื่อทำการเปรียบเทียบระกว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมทั้ง 3 ระยะ พบว่าคะแนนคุณภาพชีวิตไม่แตกต่างกัน (p>0.05) ส่วนผลการเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยที่กลับไปเสพซ้ำ ทั้ง 2 ระยะการทดลอง ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) แต่เมื่อพิจารณาจากร้อยละของการกลับไปเสพซ้ำ พบว่ากลุ่มทดลองมีผู้ป่วยที่กลับไปเสพซ้ำร้อยละ 3.33 และกลุ่มควบคุมมีผู้ป่วยกลับไปเสพซ้ำร้อยละ 13.33

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-03-03