การพัฒนาคุณภาพการจัดการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมองสำหรับพยาบาลแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลชุมชนจังหวัดแพร่

ผู้แต่ง

  • กรรณิการ์ ชัยนันท์ พย.ม. (การบริหารการพยาบาล) โรงพยาบาลหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่
  • นิพิฐพนธ์ แสงด้วง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่
  • เสาวภา เด็ดขาด วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี แพร

บทคัดย่อ

การวิจัยและพัฒนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการจัดการคุณภาพทางการพยาบาลผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมอง สำหรับพยาบาลแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งในจังหวัดแพร่ โดยใช้การวิจัยและพัฒนา (The Research and Development) เป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนา กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย  1) พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน จำนวน 82 คน 2) กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดระยะเฉียบพลันที่เข้ารับรักษาที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน จำนวน 151 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบสอบถามความคิดเห็นของพยาบาล แบบบันทึกการจัดการผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมอง สำหรับพยาบาลแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 คน มีค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่างข้อคำถามกับจุดประสงค์อยู่ระหว่าง 0.60–1.00 และตรวจสอบความเชื่อมั่น ด้วยการคำนวณหาค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของ ครอนบาค มีค่าความเชื่อมั่น 0.95 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ประกอบด้วย ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย

ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้  1) ได้แนวทางการจัดการคุณภาพทางการพยาบาลผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมอง สำหรับพยาบาลแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งในจังหวัดแพร่ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง 2) ผลลัพธ์ด้านพยาบาล พบว่า พยาบาลปฏิบัติงานที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน จำนวน 82 คน มีความพึงพอใจในภาพรวมต่อแนวทางการจัดการคุณภาพทางการพยาบาลอยู่ในระดับมาก ร้อยละ 93.90 3) ผลลัพธ์ด้านผู้ป่วย พบว่า ระยะเวลาในการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่แรกรับจนกระทั่งส่งต่อออกจากโรงพยาบาลใช้เวลาเฉลี่ย 29.38 นาที จากเดิมเวลาเฉลี่ย 34.91 นาที ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มในการลดระยะเวลาในการเข้าถึงยาละลายลิ่มเลือด (rt-PA)

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-06-30