การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยไตเรื้อรัง โรงพยาบาลพะเยาและเครือข่าย

ผู้แต่ง

  • ดอนคำ แก้วบุญเสริฐ กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลพะเยา จังหวัดพะเยา
  • นิภาภรณ์ เชื้อยูนาน กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลพะเยา จังหวัดพะเยา
  • พัชรินทร์ คำนวล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

คำสำคัญ:

การพัฒนารูปแบบ, โรคไตเรื้อรัง, ไลน์แอปพลิเคชัน

บทคัดย่อ

การวิจัยและพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยไตเรื้อรัง และศึกษาผลของการใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โรงพยาบาลพะเยาและเครือข่าย กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพและทีมสุขภาพที่ปฏิบัติงานในคลินิกโรคไตเรื้อรัง โรงพยาบาลพะเยาและเครือข่าย จำนวน 16 คน และผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่เข้ารับบริการ คลินิกโรคไตเรื้อรัง โรงพยาบาลพะเยาและเครือข่าย ในระหว่างช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน 2566 จำนวน 57 คน เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ได้แก่ รูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โรงพยาบาลพะเยาและเครือข่าย โดยใช้ไลน์แอปพลิเคชัน ชื่อ “อยู่กับหมอไต” เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามสำหรับผู้ป่วยไตเรื้อรัง แบบสอบถามสำหรับพยาบาลวิชาชีพและทีมสุขภาพ วิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ Paired t-test กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โรงพยาบาลพะเยาและเครือข่าย โดยใช้ไลน์แอปพลิเคชัน ชื่อ “อยู่กับหมอไต” เป็นรูปแบบการให้ความรู้และให้คำปรึกษาผ่านไลน์แอพลิเคชันแอคเคานท์ฯ ประกอบด้วย แผ่นอินโฟกราฟิกส์ และวีดิโอออนไลน์เกี่ยวกับโรคไตเรื้อรัง การใช้ยา
การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการอารมณ์และความเครียดในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ปัจจัยส่งเสริมการเสื่อมของไต การป้องกันและชะลอความเสื่อมของไต เป็นต้น ผลของการนำรูปแบบมาใช้พบว่า หลังการใช้รูปแบบผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีความรู้ และพฤติกรรมในการดูแลตนเองเพิ่มขึ้น
อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) อัตราการคัดกรองของเสียภายในไตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) มีความพึงพอใจต่อรูปแบบ
การดูแลผู้ป่วยไตเรื้อรัง ผ่านทางไลน์แอปพลิเคชัน ชื่อ “อยู่กับหมอไต” อยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.21) รวมถึงพยาบาลวิชาชีพและ
ทีมสุขภาพมีความพึงพอใจต่อรูปแบบในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.24)

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-01-22