ประสิทธิผลของรูปแบบการคัดกรองผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่

ผู้แต่ง

  • ประกายวรรณ์ ใจชอบ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ (งานวิจัยและพัฒนา) โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย
  • พัชรีภรณ์ โปธาตุ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ (คลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย
  • ศิริญญา คำมูล กายภาพบำบัดชำนาญการ (กลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู) โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย

คำสำคัญ:

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, การคัดกรองโรค, ตรวจสมรรถภาพปอด, จัดบริการชุมชน ที่บ้าน

บทคัดย่อ

งานวิจัยและพัฒนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการคัดกรองผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ โดยใช้การวิจัยและพัฒนาเป็นกรอบแนวคิด กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย 1) ประชาชนสงสัยป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจำนวน 38 คน 2) บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในทีมโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบสหวิชาชีพ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ ก) แบบบันทึกคัดกรองความเสี่ยงด้วยวาจา ข) ตรวจ Peak Flow ค. ตรวจ Spirometer ก่อนและหลังใช้ยาสูดพ่นขยายหลอดลม และติดตามดูแลผู้ป่วยรายใหม่ 6 กระบวนการ ได้แก่ 1) เข้าถึงบริการ
2) ประเมิน 3) วางแผน 4) ดูแล 5) ให้ข้อมูลเสริมพลัง 6) ดูแลต่อเนื่อง ตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญ 3 คน มีค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่างข้อคำถามกับจุดประสงค์อยู่ระหว่าง 0.80-1.00 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย วิเคราะห์เชิงเนื้อหา

ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้ 1) ได้รูปแบบคัดกรองผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 2) ผลลัพธ์การคัดกรอง พบ ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 18.42 สาเหตุสูบบุหรี่ ร้อยละ 57.14 ขึ้นทะเบียนรักษารับยากลุ่ม ICS LABA  ร้อยละ 71.42 ตั้งแต่แรกเริ่ม ผู้ป่วยโรคหอบหืด จำนวน 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.53 สัมผัสฝุ่นควัน ร้อยละ 75.00 ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด จำนวน 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.63 3) ผลลัพธ์ด้านผู้ป่วย การติดตามที่บ้านในระยะ 6 เดือน อาการไม่กำเริบ ร้อยละ 71.43 เลิกสูบบุหรี่ ร้อยละ 75.00 การคัดกรองผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังรายใหม่เชิงรุกเป็นวิธีช่วยค้นพบผู้ป่วยรายใหม่รับรักษาตั้งแต่ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการรุนแรงช่วยควบคุมโรคได้ดี ควรรณรงค์เรื่องบุหรี่และเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพ

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-01-22