การติดตามผลของโปรแกรมสุขศึกษาด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของสตรีกลุ่มเสี่ยง

ผู้แต่ง

  • ชาลินี มานะยิ่ง
  • มะลิวัลย์ บางนิ่มน้อย
  • ภูนรินทร์ สีกุด

คำสำคัญ:

โปรแกรมสุขศึกษา, การจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน, การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบกลุ่มเดียววัดซ้ำหลายครั้ง (One-group repeated measures) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมสุขศึกษาด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานเพื่อส่งเสริมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของสตรีกลุ่มเสี่ยง กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 39 คน โดยได้มาจากการสุ่มแบบเจาะจงและมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ กลุ่มตัวอย่างได้รับกิจกรรมตามโปรแกรมสุขศึกษาในการทดลอง 10 สัปดาห์ จากนั้นผู้วิจัยติดตามประเมินผลความคงทนของพฤติกรรมเมื่อครบเดือนที่ 3, 6 และ 7 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนด้วยสถิติ Independent t-test นำเสนอด้วยค่า Mean difference และ 95%CI วิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำทางเดียว (One-way repeated measures analysis of variance) แล้วเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยรายคู่โดยวิธี Pairwise comparisons ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยหลังเข้าร่วมโปรแกรมครบเดือนที่ 3 และ 6 มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value < .001) โดยมีคะแนนเฉลี่ยด้านการรับรู้ความรุนแรงของการเป็นมะเร็งปากมดลูก การรับรู้ประโยชน์ของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การรับรู้อุปสรรคของการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-10-18