รูปแบบการพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กลุ่มงานบริหารทั่วไป ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ

ผู้แต่ง

  • Dr.Chalong สำนักงานสาธารณสุขอำเภอปากคาด
  • ถาวร ชมมี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ

คำสำคัญ:

รูปแบบ, การพัฒนา, ประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กลุ่มงานบริหารทั่วไป ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ โดยมีวิธีดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลทางตรงและทางอ้อมต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน กลุ่มตัวอย่างเป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มงานบริหารทั่วไป ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ จำนวน 206 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่น 0.80 การทดสอบสมมติฐานตามเงื่อนไขของการวิเคราะห์สมการเชิงโครงสร้างโดยใช้โปรแกรม LISREL

ระยะที่ 2 การสร้างรูปแบบการพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน โดยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 25 คน ร่วมกันวิพากษ์ ข้อเสนอแนะ และประเมินรูปแบบการพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ระยะที่ 3 การทดลองใช้และประเมินผลรูปแบบการพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กลุ่มงานบริหารทั่วไป ในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ เป็นเวลา 3 เดือน กลุ่มทดลองคือเจ้าหน้าที่กลุ่มงานบริหารทั่วไปในโรงพยาบาลปากคาด และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ จำนวน 23 คน โดยสถิติทดสอบที (Paired t-test)

ผลการปรากฏว่า

1. แบบจำลองความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กลุ่มงานบริหารทั่วไป ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ พิจารณาจากค่าไค-สแควร์ เท่ากับ 2.40 ค่า df เท่ากับ 2 ค่า P-value เท่ากับ 0.30 และมีค่า GFI เท่ากับ 1.00 มีค่า CFI เท่ากับ 1.00 ค่า AGFI เท่ากับ 0.90 ค่า SRMR เท่ากับ 0.005 ค่า RMSEA เท่ากับ 0.032 และค่า CNเท่ากับ 782.94 อิทธิพลโดยรวมของตัวแปรที่ส่งผลต่อความสำเร็จการพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กลุ่มงานบริหารทั่วไป ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 มีทั้งสิ้น 4 ตัวแปร ได้แก่ ความฉลาดทางอารมณ์ การเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กร การทำงานเป็นทีม และการรับรู้บทบาท มีค่าสัมประสิทธิ์อิทธิพล เท่ากับ 0.46, 0.40, 0.29 และ -0.28 ตามลำดับ

2. รูปแบบการพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กลุ่มงานบริหารทั่วไป ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ ประกอบด้วย กิจกรรมการพัฒนา 10 กิจกรรม ได้แก่ การประเมินความฉลาดทางอารมณ์ กิจกรรมระดมสมองต้นไม้แห่งความคิด การทำงานร่วมกันเป็นทีม เรียนรู้การพัฒนาบุคคลและทีมงาน บทบาทและหน้าที่ การแสดงบทบาทสมมติ การเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กร การแสดงพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กร กิจกรรมพี่เลี้ยง และกิจกรรม 5 ส.

3. หลังการใช้รูปแบบการพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กลุ่มงานบริหารทั่วไป ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม ความฉลาดทางอารมณ์ การเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กร การรับรู้บทบาท และประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน มีค่าคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากก่อนการใช้รูปแบบการพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-12-20