ความสัมพันธ์ของวิถีชีวิตและการปรับตัวตามแผนการรักษาของผู้ป่วยเบาหวานในคลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรงพยาบาลศรีเมืองใหม่ ตำบลนาคำ อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี

ผู้แต่ง

  • ณัฐนนท์ พีระภาณุรักษ์ โรงพยาบาลศรีเมืองใหม่, จังหวัดอุบลราชธานี

บทคัดย่อ

การศึกษาความสัมพันธ์ของวิถีชีวิตและการปรับตัวตามแผนการรักษาของผู้ป่วยโรคเบาหวานในคลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรงพยาบาลศรีเมืองใหม่ เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และเพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในพื้นที่อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีระดับ HbA1c >7mg% จำนวน 400 คน และ HbA1c<7mg% จำนวน 400 คน และเข้ารับบริการในคลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรงพยาบาลศรีเมืองใหม่ อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงที่ทำการศึกษา ตั้งแต่วันที่1 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ระยะเวลา 3 เดือน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือ แบบสอบถามข้อมูลพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษาพบว่า ดังนี้ 1. ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีค่า HbA1c<7 mg% และ HbA1c>7 mg% ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ไม่มีผู้ดูแล มีสถานภาพสมรส คู่/สมรส การศึกษาระดับประถมศึกษา อาชีพเกษตรกรรม ส่วนใหญ่มีระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 180 mg/dl รับการรักษาโรคเบาหวานด้วยยาชนิดรับประทาน และรับการรักษาด้วยยาชนิดรับประทานและยาชนิดฉีด รับประทานอาหารเช้าเวลา 08.00 น. การรับประทานอาหารกลางวัน เวลา 12.00 น. และรับประทานอาหารเย็น เวลา 18.00 น. การขาดยาพบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีค่า HbA1c<7 mg% ขาดยาเพราะลืมรับประทานยา ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีค่า HbA1c>7 mg% ขาดยาเพราะไม่มาตามนัด 2. พฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวาน พบว่า พฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองเชิงบวกทั้งในด้านการรับประทานอาหาร ด้านการรับประทานยา ด้านการออกกำลังกาย และด้านการดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่อง เป็นพฤติกรรมที่มีการปฏิบัติอยู่เป็นประจำ (x ̅= 4.74, SD.= .73) 3. การประเมินการรับรู้ผลกระทบ/ผลเสีย ของผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน พบว่า ด้านความรู้ในเรื่องโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีค่า HbA1c<7 mg% และผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีค่า HbA1c>7 mg% มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคเบาหวานอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 58.75 และ 56.50 ตามลำดับ ส่วนด้านการรับรู้ความรุนแรงต่อการเกิดโรค พบว่า มีการรับรู้ความรุนแรงต่อการเกิดโรคอยู่ในระดับมาก ร้อยละ 36.75 และ 39.25 ตามลำดับ

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-12-20