ความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อด้านสุขภาพกับพฤติกรรมในการป้องกัน โรคไข้เลือดออกของแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว (กสค.) ตำบลหนองบัวศาลา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ผู้แต่ง

  • ธีระพงษ์ พรมจันทร์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองปลิง จังหวัดนครราชสีมา

คำสำคัญ:

แกนนำสุขภาพประจำครอบครัว (กสค.), การป้องกันโรคไข้เลือดออก, ความเชื่อด้านสุขภาพ

บทคัดย่อ

          การวิจัยเชิงพรรณนานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อด้านสุขภาพกับพฤติกรรมในการป้องกันโรคไข้เลือดออกของแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ แกนนำสุขภาพประจำครอบครัว ตำบลหนองบัวศาลา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 327 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มแบบมีระบบ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสูงสุด ค่าต่ำสุด วิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยสถิติการทดสอบไคสแควร์ และสถิติสหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน

          ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 59.6 อายุเฉลี่ย 44.76 ปี อายุระหว่าง 50-59 ปี ร้อยละ 33.0 สถานภาพสมรส ร้อยละ 68.5 ระดับการศึกษาชั้นประถมศึกษา ร้อยละ57.8 มีอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 49.9 และเคยเข้าร่วมกิจกรรมป้องกันโรคไข้เลือดออก ร้อยละ 80.1 กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออก และการรับรู้อุปสรรคในการป้องกันโรคไข้เลือดออกอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 53.5 และ 48.0 การรับรู้ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก และการรับรู้ประโยชน์ในการป้องกันโรคไข้เลือดออกอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 72.5 และ 66.9 พฤติกรรมในการป้องกันโรคไข้เลือดออกอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 51.7 การรับรู้อุปสรรคในการป้องกันโรคไข้เลือดออกการรับรู้ประโยชน์ในการป้องกันโรคไข้เลือดออกและการรับรู้ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับพฤติกรรมในการป้องกันโรคไข้เลือดออกของแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .264, .219, และ .061, P-value < .05) การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก มีความสัมพันธ์เชิงลบกับพฤติกรรมการป้องกันโรคไข้เลือดออกของแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (r =-.228, P-value < .05)

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-06-25