การพัฒนากิจกรรมเสริมความรู้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อการใช้ประโยชน์ภูมิปัญญาสมุนไพรพื้นบ้านในการดูแลสุขภาพ

ผู้แต่ง

  • สามารถ ใจเตี้ย ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
  • สิวลี รัตนปัญญา ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
  • ณัทธร สุขสีทอง ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
  • ศศิกัญญ์ นำบุญจิตต์ ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
  • รัฐพรรณ สันติอโนทัย ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
  • จันจิราภรณ์ สท้านไตรภพ ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
  • อัจฉรา คำฟั้น ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

คำสำคัญ:

กิจกรรมเสริมความรู้, อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน, ภูมิปัญญาสมุนไพรพื้นบ้าน

บทคัดย่อ

การวิจัยแบบผสานวิธีนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนา ทดสอบประสิทธิภาพ และผลสัมฤทธิ์ของกิจกรรมการเสริมความรู้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อการใช้ประโยชน์ภูมิปัญญาสมุนไพรพื้นบ้านในการดูแลสุขภาพ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการใช้ประโยชน์สมุนไพรพื้นบ้าน จำนวน 19 คน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จำนวน 35 คน ในเขตเทศบาลตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เครื่องมือการวิจัยประกอบด้วยชุดกิจกรรมการเสริมความรู้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการใช้ประโยชน์สมุนไพรพื้นบ้าน แบบทดสอบความรู้ และแบบประเมินความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์แบบอุปนัย วิเคราะห์ประสิทธิภาพของกิจกรรมการเรียนรู้ตามเกณฑ์ร้อยละ 80/80 (E1/E2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ของกิจกรรมการเสริมความรู้ด้วยสถิติทดสอบ Paired t-test และประเมินระดับความพึงพอใจด้วยสถิติเชิงพรรณนา ผลการศึกษาพบว่า กิจกรรมการเสริมความรู้ ประกอบด้วย 1) เทคนิคการสำรวจ 2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นบ้าน และ 3) การสังเคราะห์แนวทางการส่งเสริมการใช้สมุนไพรพื้นบ้านเพื่อการดูแลสุขภาพ มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ ร้อยละ 80/80 (80.66/86.94) ส่วนการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์กิจกรรมการเสริมความรู้ พบว่า ค่าคะแนนเฉลี่ยทดสอบความรู้หลังการทดลองสูงกว่าก่อนทดลองใช้กิจกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทั้งนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสนอแนะการดำเนินกิจกรรม โดยเพิ่มกิจกรรมการลงสำรวจ ระยะเวลาการดำเนินกิจกรรม และควรมีสื่อการสอนที่หลากหลาย

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-03-09