การพัฒนารูปแบบการส่งเสริมภาวะโภชนาการไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ พื้นที่กรุงเทพมหานคร : ระยะที่ 1-2 ศึกษาสถานการณ์ไอโอดีน และกระบวนการพัฒนารูปแบบ

ผู้แต่ง

  • จารินี ยศปัญญา ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น

คำสำคัญ:

ไอโอดีน, หญิงตั้งครรภ์, ยาเม็ดเสริมไอโอดีน

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาแบบวิจัยและพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการส่งเสริมภาวะโภชนาการไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ ผู้วิจัยได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการทบทวนสถานการณ์ภาวะไอโอดีนในประเทศไทย และการประยุกต์ใช้กระบวนการ PAOR ร่วมกับการสนทนากลุ่ม โดยประยุกต์ใช้กับทฤษฎีแรงจูงใจเพื่อการป้องกันโรค และทฤษฎีแรงสนับสนุนทางสังคม ในการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมภาวะโภชนาการไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์

ผลการศึกษาพบว่า (1) สถานการณ์ค่ามัธยฐานปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะหญิงตั้งครรภ์ที่สำรวจโดยกรมอนามัยพบหญิงตั้งครรภ์ขาดสารไอโอดีน แต่เมื่อหญิงตั้งครรภ์ได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีน พบว่า  มีค่ามัธยฐานปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะเพิ่มขึ้น แตกต่างจากก่อนกินยาเม็ดเสริมไอโอดีน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยพบปัญหาในการกินยาเม็ดเสริมไอโอดีน เช่น การลืมกินยา ยังไม่รู้จักสรรพคุณของยา เป็นต้น (2) รูปแบบการส่งเสริมภาวะโภชนาการไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยใช้แอปพลิเคชัน Line Official Account (Line OA) เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสาร โดยประกอบด้วย 4 ส่วนที่สำคัญคือ (1) รูปแบบการเสริมสร้างองค์ความรู้เรื่องโภชนาการไอโอดีนที่ถูกต้อง (2) รูปแบบการส่งเสริมการกินยาเม็ดเสริมไอโอดีนเป็นประจำทุกวัน (3) รูปแบบการกระตุ้นเตือน และสร้างแบบบันทึกการกินยาให้กับ  หญิงตั้งครรภ์และ (4) รูปแบบการสร้างช่องทางให้คำปรึกษา ถาม-ตอบ ข้อสงสัยด้านโภชนาการไอโอดีน จากผลการวิจัยในครั้งนี้ นำไปสู่การพัฒนาโปรแกรมการสื่อสารให้ความรู้ และกระตุ้นเตือนแบบตัวต่อตัว (Face to Face) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารอีกช่องทางหนึ่ง

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-03-31