ผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กรณีส่งต่อไปรับการรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมิตรภาพ

ผู้แต่ง

  • ศุลีพร แม้นนทรัตน์ กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลระนอง, ระนอง 85000

คำสำคัญ:

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง, ผลลัพธ์ทางคลินิก, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

บทคัดย่อ

โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพ  ที่สำคัญและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นนำไปสู่การเกิดความแออัดในโรงพยาบาล จึงมีการกระจายให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาลใกล้บ้าน ปัจจุบันจังหวัดระนอง ยังขาดการรวบรวมข้อมูลและติดตามผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ทางคลินิกในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่รับบริการระหว่างกลุ่ม รับบริการสถานบริการระดับทุติยภูมิและกลุ่มรับบริการสถานบริการระดับปฐมภูมิ โดยศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบเก็บข้อมูลย้อนหลัง จากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาลระนอง และฐานข้อมูลคลังสุขภาพจังหวัดระนอง ทำการสืบค้นจากผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคเบาหวานและหรือความดันโลหิตสูง ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึง 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 479 ราย กลุ่มผู้รับริการสถานบริการระดับทุติยภูมิ จำนวน 256 ราย และกลุ่มผู้รับบริการสถานบริการระดับปฐมภูมิ จำนวน 223 ราย ข้อมูลทั่วไป ได้แก่ เพศ อายุเฉลี่ย และโรคประจำตัวของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน จากการเปรียบเทียบผลลัพธ์ทางคลินิก พบว่า กลุ่มผู้รับบริการสถานบริการระดับทุติยภูมิ มีผลลัพธ์ด้านคลินิกในด้านค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือด (HbA1C) และค่าเฉลี่ยระดับความดันโลหิต (SBP) ต่ำกว่ากลุ่มผู้เข้ารับบริการสถานบริการระดับปฐมภูมิ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 สรุปการได้รับบริการจากสถานบริการระดับทุติยภูมิ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีผลลัพธ์ทางคลินิกดีกว่าการได้รับบริการจากสถานบริการระดับปฐมภูมิ แต่อย่างไรก็ตามสถานบริการระดับปฐมภูมิ เป็นหน่วยบริการที่มีบทบาทสำคัญและใกล้ชิดผู้ป่วย ดังนั้น จึงควรมีการติดตามผลลัพธ์ทางคลินิกอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้คำแนะนำการใช้ยาและการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-03-09