การวิเคราะห์สภาพคล่องทางการเงิน ความมั่นคงทางการเงิน และประสิทธิภาพการดำเนินงานของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • วัลลภ คชบก กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นนทบุรี 11000

คำสำคัญ:

สภาพคล่องทางการเงิน, ความมั่นคงทางการเงิน, ประสิทธิภาพการดำเนินงาน, โรงพยาบาล

บทคัดย่อ

     

การวิจัยเอกสารนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการวิเคราะห์สภาพคล่องทางการเงิน ความมั่นคงทางการเงิน และประสิทธิภาพการดำเนินงานของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิ จากงบการเงินของกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในไตรมาสที่ 4 (เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2565) และจากข้อมูลเอกสารและรายงานที่เกี่ยวข้อง โดยแยกการศึกษาเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 การศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินในภาพรวมของประเทศ โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด 900 แห่ง และตอนที่ 2 การศึกษาการวิเคราะห์สภาพคล่องทางการเงิน และประสิทธิภาพในการดำเนินงานของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขนาดของตัวอย่าง จำนวน 227 โรงพยาบาล วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าสูงสุดและค่าต่ำสุด ผลการศึกษาพบว่า สถานะทางการเงินของโรงพยาบาล พิจารณาจากค่า Current Ratio Quick Ratio และ Cash Ratio พบว่า เขตสุขภาพที่มีสถานะการเงินโดยรวมดีที่สุด คือ เขตสุขภาพที่ 5 และ 10 ส่วนเขตสุขภาพที่มีสถานะการเงินโดยรวมน้อยที่สุด คือ เขตสุขภาพที่ 2 เมื่อพิจารณา ค่า Risk score พบว่า โรงพยาบาลส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.0 มีระดับคะแนน 0-1 หรือระดับปกติ และไม่มีโรงพยาบาลใดอยู่ในระดับ 6 และ 7 ซึ่งคาดว่าจะประสบปัญหาภายใน 3 เดือน และระดับ 7 มีภาวะวิกฤตทางการเงินขั้นรุนแรง ส่วนตัวชี้วัดปัจจัยทางการการเงินของโรงพยาบาล พบว่า ทุนสำรองสุทธิ (NWC) มีค่า mean = 150,529,561.35 บาท ค่า max =  3,460,081,856.17 บาท ค่า min = -43,672,504.17 บาท เงินบำรุงหลังหักหนี้ ค่า mean = 65,120,215.72 บาท ค่า max =  2,439,301,219.33 บาท ค่า min =  -223,663,884.44 บาท รายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ (NI) ค่า mean = 62,732,562.37 บาท ค่า max = 1,364,391,541.07 บาท ค่า min = -112,244,694.89 บาท ความมั่นคงทางการเงิน พบว่า เขตสุขภาพความมั่นคงมากที่มีสุด คือ เขตสุขภาพที่ 5 ส่วนเขตที่มีความมั่นคงน้อยที่สุดในภาพรวม คือ เขตสุขภาพที่ 1 ประสิทธิภาพการดำเนินงานดีที่สุด คือ มีคะแนนประเมินระดับ A มากที่สุด คือ เขตสุขภาพที่ 5 ได้ร้อยละ 47.62 ส่วนเขตที่มีประสิทธิภาพการดำเนินงานน้อยที่สุด คือ มีคะแนนประเมินระดับ F มากที่สุด คือ เขตสุขภาพที่ 1 ได้ร้อยละ 16.00 สรุปได้ว่า สถานะทางการเงินในภาพรวมของประเทศค่อนข้างดี แต่เมื่อพิจารณารายเขตสุขภาพยังพบว่ามีบางเขตสุขภาพที่มีปัญหาในบางด้านที่ผู้บริหารทุกระดับโดยเฉพาะผู้บริหารของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ควรใช้ข้อมูลจากการศึกษาวิเคราะห์เป็นฐานในการตรวจสอบความถูกต้องและวางแผนแก้ไขปัญหาตามบริบทของแต่ละโรงพยาบาลต่อไป 

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-03-21