การศึกษาวิเคราะห์นโยบายการลดการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ของประเทศไทย ปี 2557-2564 แปลงสู่การปฏิบัติ

ผู้แต่ง

  • ลำพูน อิงคภากร กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นนทบุรี 11000
  • นิลุบล คุณวัฒน์ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นนทบุรี 11000

คำสำคัญ:

นโยบาย, การตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี , การแปลงสู่การปฏิบัติ

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงคุณภาพนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่ผ่านมา การวิเคราะห์การแปลงนโยบายการลดการตายเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ของประเทศไทยสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการพัฒนายกระดับการดำเนินงานเสริมลดการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป โดยแหล่งข้อมูลในการศึกษาครั้งนี้ได้จากการทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาจัดหมวดหมู่ตามวัตถุประสงค์ ส่วนเครื่องมือที่ใช้จากการทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาจัดทำเป็นแนวทางประเด็นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในแต่ละข้อในการนำเสนอผลการศึกษาในแต่ละส่วนต่อไป โดยใช้ตัวแบบการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติแบบบูรณาการ (Integrate Model) ผลการศึกษาพบว่า 1) สถานการณ์การตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ผ่านมา ก่อนปี พ.ศ. 2557 พบว่า ส่วนใหญ่การตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ไม่มีความแตกต่างกัน และสาเหตุการตายทารกขาดออกซิเจนขณะคลอดมากที่สุด รองลงมาคือ การคลอดก่อนกำหนด 2) กระบวนการนำนโยบายการลดการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ของประเทศไทย ช่วงปี พ.ศ. 2557-2564 สู่การปฏิบัติ พบว่า กรมอนามัย เป็นหน่วยงานหลักและหน่วยงานอื่นๆ ร่วมในการผลักดันนโยบายลดการตายของเด็กอายุ ต่ำกว่า 5 ปี มีการปฏิบัติโดยการชี้แจงนโยบายดังกล่าวให้หน่วยงานที่รับผิดชอบและผู้ปฏิบัติงานทุกระดับได้รับรู้และเกิดการยอมรับนโยบาย และแปลงนโยบายสู่การจัดทำแผนลดการตายของของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะต้องมีสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการปฏิบัติงานและบุคลากรต้องมีความพร้อมทุกด้าน รวมทั้งจะต้องมีหน่วยงานภายนอกและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อย่างต่อเนื่อง จากผลการดำเนินงาน ช่วงปี พ.ศ. 2557-2564 พบว่า สถานการณ์การตายของเด็กอายุ ต่ำกว่า 5 ปี ลดลง จาก 8.8  ในปี 2557 ลดลงเหลือ 7.0 ต่อการเกิดมีชีพพันคน ทารกแรกเกิดตายลดลง จาก 3.7 ในปี 2557 เหลือ 3.0 ต่อการเกิดมีชีพพันคน และ 3) การพัฒนายกระดับและสถานการณ์การดำเนินงานเสริมในการลดการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบว่า มีการยกระดับเดียวกับแนวทางการพัฒนาการจัดระบบบริการสำหรับลดการตายของเด็กอายุ ต่ำกว่า 5 ปี และการยกระดับการปรับปรุงคู่มือการสำรวจและการวินิจฉัยการตายมารดาที่มีผลกระทบต่อการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ควรมีนโยบายลดการตายของเด็กอายุ 5 ปี ทำให้มีความชัดเจน มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามารับผิดชอบผลักดันให้สู่เป้าหมายเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว และข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ กระทรวงสาธารณสุข ควรแต่งตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามารับผิดชอบในการจัดทำฐานข้อมูลการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และการวินิจฉัยการตายของแม่ที่มีผลกระทบต่อการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยมีงบประมาณมาสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-03-21