ภาวะสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามกับการดูแลสุขภาพแบบประคับประคองของครอบครัวในชุมชนชนบทในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ผู้แต่ง

  • วราภรณ์ สาวิสิทธิ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม, นครปฐม 73000

คำสำคัญ:

สุขภาพจิต, คุณภาพชีวิต, การรับรู้ภาวการณ์เจ็บป่วย, พฤติกรรมการดูแลตนเอง, ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม

บทคัดย่อ

ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม มีการเปลี่ยนแปลงอาการทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นผลจากอาการแสดงของโรค ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวผู้ดูแลมีความเครียด วิตกกังวล การดูแลแบบประคับประคองสามารถจัดการอาการรบกวนได้ มีภาวะสุขภาพที่ดีทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามในครอบครัวที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง แนวการปฏิบัติและผลลัพธ์ของการจัดการอาการรบกวน กลุ่มตัวอย่างผู้เข้าร่วมวิจัย จำนวน 37 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสูงสุดและค่าต่ำสุด ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามในเพศหญิง ได้รับการวินิจฉัยแยกโรค 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปากมดลูก เพศชาย ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ และมะเร็งท่อน้ำดี ส่วนใหญ่ผู้ป่วยสามารถทำใจยอมรับได้ ร้อยละ 51.4 การรับรู้ของผู้ป่วยต่อการแสดงออกถึงความรู้สึกสภาพจิตใจของครอบครัว คือ ตกใจ เครียด วิตกกังวล ร้อยละ 89.2 ผู้ป่วยมีระดับความสามารถระยะคงที่ ร้อยละ 51.4 อาการไม่สุขสบาย 3 อันดับแรก ได้แก่ อาการปวด เหนื่อย/อ่อนเพลีย และวิตกกังวล ซึ่งอยู่ในระดับความรุนแรงอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง มีคุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง มีระดับการรับรู้ภาวะการณ์เจ็บป่วย อยู่ในระดับน้อย และมีพฤติกรรมการดูแลตนเองแบบประคับประคอง อยู่ในระดับน้อย ผลการวิจัยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชุมชน และท้องถิ่น ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงการบริการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ภาวะสุขภาพจิตและอาการไม่สุขสบายของผู้ป่วยและครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-03-30