การพัฒนารูปแบบการควบคุมระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ในตำบลบ้านเกิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของรูปแบบการควบคุมระดับความดันโลหิต ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ในตำบลบ้านเกิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 82 คน ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2567 เครื่องมือในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ Paired- t-test
ผลการศึกษา พบว่า ผลการพัฒนาได้รูปแบบการควบคุมระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมองโดยครอบครัวให้มีส่วนร่วม 4 กิจกรรม คือ 1) การแลกเปลี่ยนข้อมูล 2) การดูแลกิจกรรมประจำวัน
ผู้ป่วย 3) กิจกรรมการพยาบาล 4) การตัดสินใจ หลังพัฒนาผู้ป่วยมีการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น
จากค่าเฉลี่ย 48.02 เป็น 56.45 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t=-10.07, p<0.001) พฤติกรรมเสี่ยงลดลง จากค่าเฉลี่ย 44.24เป็น 40.23 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t= -8.831, p<0.001) ภาวะสุขภาพผู้ป่วยมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปกติเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) หลังพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t= -8.692, p<0.001) เพิ่มจากค่าเฉลี่ย 76.76 เป็น 88.78
ข้อเสนอแนะ ควรนำรูปแบบการควบคุมระดับความดันโลหิต ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมองไปใช้ เพื่อให้ผู้ป่วยมีการรับรู้โอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้น พฤติกรรมเสี่ยงลดลง ภาวะสุขภาพดีขึ้นและผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น
คำสำคัญ : การพัฒนารูปแบบ, ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง, การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง