การพยาบาลผู้ป่วยเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นที่รักษาด้วยการส่องกล้อง : กรณีศึกษา

ผู้แต่ง

  • ประกาย จันมี งานส่องกล้อง โรงพยาบาลชัยภูมิ

คำสำคัญ:

การพยาบาล, เลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น, การรักษาด้วยการส่องกล้อง

บทคัดย่อ

กรณีศึกษานี้เพื่อให้การพยาบาลผู้ป่วยที่มีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น ที่ได้รับการตรวจรักษาด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น ฉีดยาหยุดเลือด คลิปหนีบแผล และรัดเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร ศึกษาในผู้ป่วย 1 ราย เป็นเพศหญิงอายุ 51 ปี มาโรงพยาบาลด้วยเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น ซึ่งมีภาวะตับแข็ง เบาหวาน และความดันโลหิตสูงเป็นโรคร่วม เก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างวันที่ 19 ถึง 22 กันยายน 2562 พบว่าผู้ป่วยมีปัญหา 1) เสี่ยงต่อภาวะ Shock เนื่องจากมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร 2) ซีด เนื่องจากเสียเลือดในทางเดินอาหารและเลือดออกง่ายจากปัจจัยการแข็งตัวของเลือด 3) ผู้ป่วยและญาติวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและการส่องกล้อง 4) เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนขณะส่องกล้องตรวจรักษาจากภาวะความดันโลหิตสูง 5) เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการส่องกล้องจากมีภาวะเบาหวาน 6) เสี่ยงต่อการมีเลือดออกซ้ำในกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร และ 7) ผู้ป่วยและญาติวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะของโรค และพร่องความรู้ในการดูแลตนเองที่ถูกต้อง ผลการศึกษาพบว่า หลังการตรวจรักษาผู้ป่วยไม่มีภาวะถ่ายดำ ไม่จุกแน่นท้อง ไม่มีไข้ แต่ยังวิตกกังวลเรื่องแผลในกระเพาะอาหารและเส้นเลือดขอด จึงได้ให้ความรู้การดูแลตนเอง เพิ่มเติม และหลังการมาตรวจตามนัดเมื่อครบ 4 สัปดาห์ ยังมีปัญหาเส้นเลือดขอดในกระเพาะอาหารแพทย์โรงพยาบาลชัยภูมิไม่สามารถให้การรักษาได้  จึงส่งรักษาต่อโรงพยาบาลมหาราชเพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

จากการศึกษาพบว่า พยาบาลห้องส่องกล้องต้องมีความรู้ความสามารถในการประเมินผู้ป่วยที่มีเลือดออกทางเดินอาหารส่วนต้นที่มีโรคร่วมความดันโลหิตสูง โรคตับแข็ง โรคเบาหวานมารับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น  ต้องประเมินให้ครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และเศรษฐกิจ  เพื่อวางแผน ให้การพยาบาล  ประเมินผล ส่งต่อข้อมูลการรักษาพยาบาลให้แก่ทีมอย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ในการส่องกล้องให้เหมาะสมและพร้อมใช้กับผู้ป่วยรายนั้นๆ เพื่อป้องกันภาวะเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นขณะส่องกล้อง  หรือหลังส่องกล้อง  พยาบาลห้องส่องกล้องต้องมีทักษะความชํานาญในการช่วยแพทย์ส่องกล้องตรวจรักษา รวมถึงอุปกรณ์ช่วยชีวิตฉุกเฉินให้พร้อมใช้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางการพยาบาล คือ ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัย ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำหัตถการและสอดคล้องกับการรักษาของแพทย์

เอกสารอ้างอิง

นนทลี เผ่าสวัสดิ์. Upper Gastrointestinal Bleeding. ใน. สถาพร มานัสสถิตย์, และคณะ.

[บรรณาธิการ]. Clinical Practice in Gastroenterology. (2553). กรุงเทพฯ : กรุงเทพเวชสาร.

องอาจ ไพรสณทรางกูร. (2547). การตกเลือดในทางเดินอาหารส่วนต้น. กรุงเทพฯ: กรุงเทพเวชสาร.

อนงค์ คำบุตดา. (2561). การพยาบาลผู้ป่วยเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนต้นเฉียบพลันร่วมกับภาวะช็อคจากการเสียเลือด. วารสารโรงพยาบาลมหาสารคาม, 15(3):187 -97.

โรงพยาบาลชัยภูมิ . (2561). สถิติผู้ป่วยประจำปี 2561. ชัยภูมิ : เวชสถิติ โรงพยาบาลชัยภูมิ.

โรงพยาบาลชัยภูมิ. (2561). สถิติหน่วยส่องกล้อง. ชัยภูมิ : งานส่องกล้อง โรงพยาบาลชัยภูมิ.

นิษา เรืองกิจอุดม, วาทินี เธียรสุคนธ์. ( 2557). คู่มือการพยาบาลผู้ป่วยโรคเส้นเลือดโป่งพองบริเวณหลอดอาหารที่มารับการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้นโดยวิธีการรัดยาง. กรุงเทพฯ : งานการพยาบาลผ่าตัด ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช.

โรงพยาบาลราชวิถี. (2549). ตำราการปฏิบัติงานสำหรับพยาบาลผู้ปฏิบัติงานด้านการส่องกล้องทางเดินอาหาร. กรุงเทพฯ : ตำราในโครงการตำราของศูฯย์การผ่าตัดทางกล้องโรงพยาบาลราชวิถี.

ศิริมา ลีละวงศ์, นภัสสรณ์ รุจน์รวีหิรัญ, และ ยุรภรณ์ ข่ายสุวรรณ. [บรรณาธิการ]. (2559). มาตรฐานการพยาบาลตรวจรักษาพิเศษ. นนทบุรี : สำนักการพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข.

สมบัติ ตรีประเสริฐสุข, รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร, ยุทธนา ศตวรรษธำรง. [บรรณาธิการ]. (2550). Practical GI endoscopy 3. กรุงเทพฯ : สมาคมแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารไทย.

โรงพยาบาลราชวิถี. (2549). คู่มือการเตรียมและประเมินผู้ป่วยก่อนทำ Endoscopic Procedures และการพยาบาล. กรุงเทพ : งานโรคทางเดินอาหาร กลุ่มงานอายุรศาสตร์โรงพยาบาลราชวิถี.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-08-23