ผลของการพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ ห้องผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลเลย
คำสำคัญ:
แนวปฏิบัติการพยาบาล, ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจบทคัดย่อ
ผู้ป่วยที่มีภาวะระบบหายใจล้มเหลว มีความจำเป็นต้องใช้ท่อช่วยหายใจและเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งทำให้เกิดความไม่สุขสบายและกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารคัดหลั่งเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการนอนโดยใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นระยะเวลานาน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ระบบทางเดินหายใจ ปี 2560 พบว่ามีผู้ป่วยทั้งหมด 692 คน ใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ 610 คน ร้อยละ 88.40 มีอัตราการเลื่อนหลุดของท่อช่วยหายใจ 4.5 ต่อ 1,000 วันใช้เครื่องช่วยหายใจ อัตราการเกิดปอดอักเสบสัมพันธ์กับเครื่องช่วยหายใจ 8.3 ต่อ1,000วันใช้เครื่องช่วยหายใจ สาเหตุเกิดจากพยาบาล มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังพบว่าแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยเครื่องช่วยหายใจไม่เป็นปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับบริบทของปัญหาของผู้ป่วย รวมทั้งวิวัฒนาการของเครื่องมือแพทย์ที่ก้าวหน้าและทันสมัยมากขึ้น ผู้วิจัยจึงพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยประยุกต์ใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ 3 วงรอบๆ ละ 4 ขั้นตอน ได้แก่ การวางแผน การปฏิบัติการ การสังเกตการณ์ และ การสะท้อนกลับเพื่อนำสู่การปรับปรุงแก้ไขในวงรอบต่อไป วงรอบที่ 1-2 กลุ่มผู้วิจัยพัฒนาแนวปฏิบัติ 6 แนวทาง 1) ส่งเสริมการได้รับออกซิเจนเพียงพอ 2) การดูแลให้ทางเดินหายใจโล่ง 3) การดูแลด้านกิจวัตรประจำวัน 4) การป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเครื่องช่วยหายใจ 5) การดูแลไม่ให้เนื้อเยื่อหลอดลมเกิดแผลจากท่อช่วยหายใจ และ 6) การดูแลการทำงานของเครื่องช่วย และพัฒนาแนวปฏิบัติเพิ่ม 1 แนวทาง คือ การดูแลผู้ป่วยในการหย่าเครื่องช่วยหายใจ วงรอบที่ 3 ปรับปรุงแนวปฏิบัติและพัฒนาแนวปฏิบัติเพิ่ม 1 แนวทาง คือ การลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยในการหย่าเครื่องช่วยหายใจ
ผลการศึกษาพบว่าการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจทำให้มีการปฏิบัติการพยาบาลครอบคลุมทั้ง 8 แนวทางมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Friedman Test Asymp. Sig < 0.01, Mean Rank: 1.71, 2.47, 2.91 และ 2.91) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอัตราการเกิดปอดอักเสบสัมพันธ์กับเครื่องช่วยหายใจลดลงจาก 14.00 เหลือ 11.34 ต่อ1,000วันที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ อัตราการเลื่อนหลุดของท่อช่วยหายใจลดจาก 6.68 เป็น 4.73 ต่อ1,000วันที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ (ข้อมูลก่อนและหลังการใช้แนวปฏิบัติ 3 เดือน) และความพึงพอใจต่อการใช้แนวปฏิบัติอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 95.00 ปัจจัยความสำเร็จเกิดจากการมีส่วนร่วมของพยาบาลในหน่วยงานทำให้เกิดการทบทวนสถานการณ์ เข้าใจเหตุปัจจัยและความเชื่อมโยงของแต่ละปัญหา เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาเชิงระบบ แบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ร่วมกันพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานเพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการพยาบาลครอบคลุมตามเกณฑ์และลดภาวะแทรกซ้อนที่ป้องกันได้
เอกสารอ้างอิง
ปทิตตา ปานเฟือง, อำภาพร นามวงศ์พรหม, นํ้าอ้อย ภักดีวงศ์. (2558). ประสิทธิผลของการใช้แนวปฏิบัติในการหย่าเครื่องช่วยหายใจต่อความสำเร็จของการหย่าเครื่องช่วยหายใจและระยะเวลาในการหย่าเครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยวิกฤติที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ. วารสารการพยาบาลและการดูแลสุขภาพ, 33(3):159-67.
จิตรศิริ ตันติชาติกุล, วนิดา เคนทองดี. (2556). การพัฒนาแนวปฏิบัติโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการดูแล ผู้ป่วยหย่าเครื่องช่วยหายใจ. วารสารกองการพยาบาล, 40(3):56-69.
พจนา ปิยะปรณ์ชัย. (2553). การพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดด้วยออกซิเจนและเครื่องช่วยหายใจ. นนทบุรี : บริษัท ธนาเพลส จำกัด.
ยุพา วงศ์รสไตร, อรสา พันธ์ภักดี, สุปรีดา มั่นคง. (2551). แนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อส่งเสริมความสำเร็จในการหย่าเครื่องช่วยหายใจ. Rama Nurs J, 14(3):348-65.
Kemmis S, McTaggart R. (2005). Participatory Action Research : Communicative Action and the Public Sphere. The SAGE Handbook of Qualitative Research. 3rd ed. London: SAGE Publications.
เกษราวัลย์ นิลวรางกูร. (2558). การวิจัยเชิงปฏิบัติการสำหรับวิชาชีพการพยาบาล. ขอนแก่น : คลังนานา.
ทวีศักดิ์ นพเกษร. (2551). วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เล่ม 1. นครราชสีมา : โชคชัยเจริญมาร์เก็ตติ้ง.
อุดมลักษณ์ เตียสวัสดิ์, ดลวิวัฒน์ แสนโสม, อัจฉราวรรณ นาเมืองจันทร์, สุภาพรณ์ ตัณฑ์สุระ, ยุวดี บุญลอย, อภิสรา สงเสริม. (2561). การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจในงานดูแลผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลขอบแก่น. วารสารการพยาบาลและการดูแลสุขภาพ, 35(1):194-206.
ทองเปลว กันอุไร, อำภาพร นามวงศ์พรหม, มนพร ชาติชำ, อัญชลี ยงยุทธ. (2554). ผลของการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจจากหลักฐานเชิงฐานเชิงประจักษ์ต่อคุณภาพการดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจในหอผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลสิงห์บุรี. วารสารสมาคมพยาบาลฯภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, 29(2):25-34.
ระเบียบ ขุนภักดี. (2555). ผลการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ต่อภาวะพร่องออกซิเจน การใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำ อัตราการเลื่อนหลุดของท่อช่วยหายใจ และความพึงพอใจของพยาบาลในหอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง. วารสารวิชาการเขต, 12(3):71-9.
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2021 ชัยภูมิเวชสาร
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.