ผลของการฝึกหายใจอย่างช้าต่อการควบคุมระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ชนิดไม่ทราบสาเหตุ ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองชัยภูมิ (โรงพยาบาลชัยภูมิ 2) โรงพยาบาลชัยภูมิ พ.ศ.2560

ผู้แต่ง

  • ปราณี ชัยหลาก ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองชัยภูมิ โรงพยาบาลชัยภูมิ

คำสำคัญ:

ความดันโลหิตสูง, หายใจอย่างช้า

บทคัดย่อ

การวิจัยวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi experiment) มีวัตถุประสงค์เพื่อ เปรียบเทียบระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ (กลุ่มศึกษา) ก่อนและหลังการฝึกหายใจอย่างช้า และเปรียบเทียบระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ ระหว่างกลุ่มศึกษาและกลุ่มเปรียบเทียบ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำเภอเมืองชัยภูมิ ที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์และมารับการรักษาต่อเนื่องที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองชัยภูมิ โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive) จำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มศึกษาจำนวน 30 คน และกลุ่มเปรียบเทียบจำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วยข้อมูล 2 ส่วน คือ ข้อมูลทั่วไปและแบบบันทึกการฝึกหายใจอย่างช้า ซึ่งผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์และการวัดความดันโลหิต อัตราการเต้นของชีพจร อัตราการหายใจ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ประเมิน BMI กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์–31 มีนาคม 2560 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติอนุมานได้แก่ได้แก่ chi square test, independent t-test และ pair t-test 

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มศึกษามีค่าเฉลี่ยความดันโลหิต Systolic และ Diastolic ก่อนการทดลองเท่ากับ 154.50 mmHg และ 91.33 mmHg ตามลำดับ หลังการทดลองเท่ากับ 135.57 mmHg และ 81.70  mmHg ตามลำดับ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยความดันโลหิต Systolic ลดลง เท่ากับ 18.93 mmHg และค่าเฉลี่ยความดันโลหิต Diastolic ลดลง เท่ากับ 9.63 mmHg มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value <0.05) และกลุ่มเปรียบเทียบมีค่าเฉลี่ยความดันโลหิต Systolic และDiastolic ก่อนการทดลองเท่ากับ 145.73 mmHg และ 86.30 mmHg ตามลำดับ หลังการทดลองเท่ากับ 150.53 mmHg และ 88.17 mmHg ตามลำดับ มีค่าเฉลี่ยความดันโลหิต Systolic เพิ่มขึ้น เท่ากับ 4.80 mmHg และค่าเฉลี่ยความดันโลหิต Diastolic เพิ่มขึ้น เท่ากับ 1.86 mmHg มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value <0.05) และพบว่ากลุ่มศึกษามีค่าเฉลี่ยความดันโลหิต Systolic และDiastolic ลดลงมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value <0.05)

สรุป การฝึกหายใจอย่างช้า ช่วยลดความดันโลหิตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงได้ สามารถนำไปปรับใช้ในการให้คำแนะนำการฝึกหายใจอย่างช้า ในกลุ่มผู้ป่วยความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้

เอกสารอ้างอิง

WHO. (2013). A global brief on hypertension. World Health organization. Retrieved from www.who.int. [26ธันวาคม 2559].

ธาริณี พังจุนันห์, นิตยา พันธุเวทย์. (2558). ประเด็นสารรณรงค์ความดันโลหิตสูง. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://thaincd.com/document/ file/news/announcement [26ธันวาคม 2559].

สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. (2557). สถิติสาธารณสุข. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จากhttp://www.bps.ops.moph.go.th/statistic55.html [28 ธันวาคม 2559]

วิชัย เอกพลากร. (2557). รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ.2557. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จากhttps://www.hsri.or.th/researcher/research/new-release/detail/7711 [28 ธันวาคม 2559]

จตุพร เลิศฤทธิ์. (2559). แบบรายงานการตรวจราชการระดับจังหวัด ปี 2559 ระบบบริการโรคไม่ติดต่อจังหวัดชัยภูมิ. ชัยภูมิ : โรงพยาบาลชัยภูมิ.

ธิติสุดา สมเทวี, ลินจง โปธิบาล, ภารดี นานาศิลป์. (2554). ผลของการปฏิบัติสมาธิเคลื่อนไหวไทยชี่กงต่อความดันโลหิตในผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูง. เชียงใหม่ : โรงพยาบาลสารภี.

มาณีย์ อุ้ยเจริญพงษ์, เบญจพร ทองเที่ยงดี. (2554). การหายใจช้าช่วยลดความดันโลหิตสูง. กรุงเทพฯ : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย.

จมาภรณ์ ใจภักดี, กมล อุดล, ปรารถนา สถิตย์วิภาวี, พนม เกตุมาน. (2556). ผลของการฝึกหายใจแบบลึกร่วมกับการผ่อนคลายกล้ามเนื้อต่อระดับความดันโลหิตและความเครียดใน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง. กรุงเทพฯ : คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.

เสาวนีย์ เหลืองอร่าม. (2556). การหายใจแบบช้าในภาวะความดันโลหิตสูง. พิษณุโลก ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร.

ประภาส จิบสมานบุญ,อุบล สุทธิเนียม.(2556). สมาธิบำบัด SKT2 ต่อระดับความดันโลหิตและตัวบ่งชี้ทางเคมี. โรงพยาบาลเดิมบางนางบวชจังหวัดสุพรรณบุรี.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-08-26