การเปรียบเทียบประสิทธิผลการรักษาด้วยวิธีทางกายภาพบำบัดระหว่างการใช้อัลตราซาวด์ และเครื่องกระตุ้นไฟฟ้ากระแสอินเตอร์เฟอร์เรนเชี่ยล ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคปวดหลังส่วนล่าง โรงพยาบาลชัยภูมิ

ผู้แต่ง

  • พิชัย ลาภเกิด กายภาพบำบัด เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลชัยภูมิ ชัยภูมิ

คำสำคัญ:

อัลตราซาวด์, ไฟฟ้ากระแสอินเตอร์เฟอร์เรนเชี่ยล, ปวดหลังส่วนล่าง

บทคัดย่อ

ผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่าง (Low back pain) ที่มารับบริการในแผนกกายภาพบำบัด โรงพยาบาลชัยภูมิ ปี 2560 นั้น มีจำนวนมากถึง 3,801 ราย โดยคิดเป็น ร้อยละ 33.4 ของผู้ป่วยที่มารับบริการทั้งหมด ทั้งนี้ผู้ป่วยมักจะได้รับการรักษาโดยใช้อัลตร้าซาวด์ และการกระตุ้นไฟฟ้ากระแสอินเตอร์เฟอร์เรนเชี่ยล อย่างไรก็ตามการรักษาเพื่อลดอาการปวดหลัง และเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวโดยใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ และการกระตุ้นไฟฟ้ากระแสอินเตอร์เฟอร์เรนเชี่ยล ยังไม่เคยมีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลว่าการรักษาใดมีประสิทธิภาพสูงกว่า และจะสามารถใช้ทดแทนกันได้หรือไม่ จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้

วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลการรักษาด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด ระหว่างการใช้

อัลตร้าซาวด์ หรือการกระตุ้นไฟฟ้ากระแสอินเตอร์เฟอร์เรนเชี่ยล ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคปวดหลังส่วนล่างจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ในแผนกกายภาพบำบัดบัด โรงพยาบาลชัยภูมิ

วิธีดำเนินการศึกษา : ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคปวดหลังส่วนล่างจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อจำนวน 60 ราย ถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มโดยวิธีสุ่ม เพื่อรับการรักษาทางกายภาพบำบัดด้วยการใช้อัลตร้าซาวด์ หรือการกระตุ้นไฟฟ้ากระแสอินเตอร์เฟอร์เรนเชี่ยล ทั้งสองกลุ่มจะได้รับการรักษาร่วมกับการประคบร้อน ทั้งนี้ผู้ป่วยจะได้รับการนัดเพื่อตรวจประเมินซ้ำ และรักษาเป็นจำนวน 5 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ระดับความปวดบริเวณหลังส่วนล่าง และช่วงการเคลื่อนไหวของหลังจะถูกประเมินทุกครั้งภายหลังการรักษา

ผลการศึกษา : ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีช่วงอายุ เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง และดัชนีมวลกายไม่แตกต่างกัน ก่อนการรักษาระดับความเจ็บปวดในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการใช้อัลตร้าซาวด์ (6.5±1.7) และการกระตุ้นไฟฟ้ากระแสอินเตอร์เฟอร์เรนเชี่ยล (6.3±1.8) ไม่แตกต่างกัน รวมทั้งระยะการเคลื่อนไหวของหลังส่วนเอวก่อนการรักษาก็ไม่มีความแตกต่างกัน (p<0.05) ผลการศึกษาพบว่า การรักษาด้วยการใช้

อัลตร้าซาวด์ และการกระตุ้นไฟฟ้ากระแสอินเตอร์เฟอร์เรนเชี่ยล ให้ผลดีในการลดอาการปวดหลัง (2.9±1.4 และ 3.0±1.6 ตามลำดับ) และเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวในทุกทิศทางได้ไม่แตกต่างกัน (p<0.05)

สรุป : ผลการรักษาระหว่างการใช้อัลตราซาวด์ หรือไฟฟ้ากระแสอินเตอร์เฟอร์เรนเชี่ยล ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ให้ผลลดอาการปวดหลัง และเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของลำตัวส่วนเอวได้ไม่แตกต่างกัน

เอกสารอ้างอิง

Koes BW, Van Tulder MW, Thomas S. (2006). Diagnosis and treatment of low back pain. BMJ. 332(7555):1430-4.

Ebadi S, Henschke N, Nakhostin Ansari N, Fallah E, van Tulder MW. (2014). Therapeutic ultrasound for chronic low-back pain. Cochrane Database Syst Rev. (3):CD009169.

Fuentes JP, Armijo Olivo S, Magee DJ, Gross DP. (2010). Effectiveness of interferential current therapy in the management of musculoskeletal pain: a systematic review and meta-analysis. Phys Ther. 90(9):1219-38.

Grabiańska E, Leśniewicz J, Pieszyński I, Kostka J. (2015). Comparison of the analgesic effect of interferential current (IFC) and TENS in patients with low back pain. Wiad Lek. 68(1):13-9.

กันยา ปาละวิวัธน์. (2556). การรักษาด้วยเครื่องไฟฟ้าทางกายภาพบำบัด. นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกายภาพบำบัด.

Kamali F, Panahi F, Ebrahimi S, Abbasi L. (2014). Comparison between massage and routine physical therapy in women with sub-acute and chronic nonspecific low back pain. J Back Musculoskelet Rehabil. 27(4):475-80.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-08-26