ข้อบ่งชี้เพื่อคัดเลือกผู้ป่วยผ่าตัดเปิดช่องท้องในผู้ป่วยแผลถูกแทงทะลุช่องท้อง

ผู้แต่ง

  • สมคิด เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลแพร่

คำสำคัญ:

แผลถูกแทงทะลุเยื่อบุช่องท้อง, ข้อบ่งชี้ทางคลินิก, การผ่าตัดที่ไม่จำเป็น

บทคัดย่อ

                   การศึกษาวิจัยเชิงวิเคราะห์ย้อนหลังครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยข้อบ่งชี้ที่มีผลต่อการผ่าตัดผู้ป่วย ที่ได้รับบาดเจ็บจากแผลถูกแทงที่ช่องท้องในโรงพยาบาลแพร่ ตั้งแต่มกราคม ๒๕๔๔ ถึงธันวาคม ๒๕๔๗ รวมระยะเวลา ๔ ปี จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ๑๕๙ ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ ๙๐.๖ อายุเฉลี่ย ๓๓.๒๙ ปี พบกลุ่มผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัด ๑๒๕ ราย (ร้อยละ ๗๘.๖) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบไคสแควร์

                   การศึกษานี้พบว่า ข้อบ่งชี้ อาการแสดงการอักเสบทางหน้าท้องชัดเจน เลือดออกในทางเดินอาหารและ ทางเดินปัสสาวะนอกจากมีความจำเป็นผ่าตัดทุกรายแล้ว ยังพบว่ามีอวัยวะภายในบาดเจ็บรุนแรงทั้งหมด (ร้อยละ ๑๐๐) ชนิดของการบาดเจ็บและข้อบ่งชี้ทางคลินิกที่เชื่อว่าต้องผ่าตัดทันทีคือ กลุ่มช็อกมีความจำเป็นผ่าตัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < ๐.๐๕) โดยกลุ่มผู้ป่วยช็อก ๓๖ ราย มีเพียง ๑ ราย ที่ไม่มีความจำเป็นต้องผ่าตัด ขณะที่กลุ่มอวัยวะภายในจุกที่แผลและกลุ่มที่มีการกดเจ็บทั่วท้อง พบความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดและกลุ่มที่ไม่มีความจำเป็นต้องผ่าตัด (p > ๐.๐๕) โดยผู้ป่วยอวัยวะภายในจุกที่แผล กลุ่มที่มีการกดเจ็บทั่วท้อง จำเป็นต้องผ่าตัดร้อยละ ๗๕.๖ และ ๗๓.๓ ตามลำดับ สำหรับกลุ่มแผลทะลุเยื่อบุช่องท้องมีความจำเป็นต้องผ่าตัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< ๐.๐๕) อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้ทั้งหมด ๔๕ ราย มีความจำเป็นต้องผ่าตัดเพียง ๒๓ ราย เมื่อทดสอบ ประสิทธิภาพของข้อบ่งชี้ พบความเฉพาะเจาะจงได้ร้อยละ ๓๘.๒๔ และค่าทำนายผลบวกได้เพียงร้อยละ ๕๒.๒๗ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สะท้อนความแม่นยำในการตัดสินใจทำการผ่าตัดที่มีค่าต่ำ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ทางคลินิกหลายปัจจัยพบกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดน้อยกว่าผู้ป่วยที่มีปัจจัยเดียว อย่างไรก็ตามในกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทั้งหมดไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเลย

                    การศึกษานี้ สนับสนุนว่าข้อบ่งชี้การแสดงการอักเสบทางหน้าท้องชัดเจน ช็อกหรือมีเลือดออกจากอวัยวะภายใน เป็นข้อบ่งชี้ที่ต้องทำผ่าตัดทันที ที่เหลือเป็นข้อบ่งชี้ที่สามารถคัดกรองเพื่อพิจารณาผ่าตัดช่องท้อง ซึ่งช่วยลดจำนวนผู้ป่วยผ่าตัดที่ไม่จำเป็นได้ ทั้งนี้สถานพยาบาลโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคที่ขาดแคลนทีมศัลยแพทย์ในการเฝ้าระวังติดตามการเปลี่ยนแปลง อาจจะคัดเลือกเฉพาะรายที่มีความเสี่ยงในการรักษาผ่าตัดเท่านั้นเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ป่วย

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-09-13

วิธีการอ้างอิง