ปัจจัยเสี่ยงต่อการหกล้มของผู้สูงอายุในชุมชน

ผู้แต่ง

  • วิภาวี กิจกําแหง ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • นิพัธ กิตติมานนท์ กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก
  • ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก

คำสำคัญ:

การหกล้ม, ผู้สูงอายุ, ปัจจัยเสี่ยง

บทคัดย่อ

                   การสำรวจภาคตัดขวางนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยเสี่ยงต่อการหกล้มของผู้สูงอายุในชุมชน และหา อุบัติการการหกล้มของผู้สูงอายุ ในตำบลวัดจันทร์ จังหวัดพิษณุโลก ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2547 - 31 มกราคม 2548 โดยการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย ได้ผู้สูงอายุ 403 คน เก็บข้อมูลการหกล้มในช่วง 1 ปีก่อนการศึกษาเครื่องมือวิจัยเป็นแบบประเมินปัจจัยเสี่ยง ประกอบด้วย 2 ส่วน คือส่วนซักประวัติและส่วนตรวจร่างกายวิเคราะห์ข้อมูลลักษณะทั่วไปด้วยสถิติเชิงพรรณนา ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติวิเคราะห์ไค-สแควร์ ฟิชเชอร์ สมการถดถอยลอจิสติก

                   ผลการศึกษาพบว่ามีอุบัติการการหกล้มร้อยละ 25.1 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการหกล้มคือ เพศ การเจ็บป่วยเฉียบพลัน ภาวะเวียนศีรษะ การได้ยินบกพร่อง การทรงตัวและการเดินบกพร่อง (ประเมินด้วย Tinetti balance & gait score) ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล การใช้ยามากกว่า 4 ชนิด การใส่รองเท้าที่ไม่พอดี การใส่ผ้าถุง กระโปรงหรือกางเกงที่ยาวเกินไป ปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน คือ พรมที่ไม่ยึดติดกับพื้น พรมมีขอบย่น และมีเก้าอี้ต่ำเกินไป ไม่สะดวกในการลุก ปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายนอกบ้าน คือ ทางเดินชำรุด และมีพุ่มไม้เตี้ยที่ทางเดินไปสู่บ้าน ปัจจัยอื่น ๆ คือ ความบกพร่องของการทำกิจวัตรประจำวัน และการมีความยาวแขนมากกว่าความสูงเกิน 5 ซม. (แสดงถึงภาวะกระดูกเสื่อม) การหกล้มส่วนใหญ่เกิดภายนอกบ้าน เพศหญิงส่วนมากมักหกล้มช่วงเช้า เพศชายมักหกล้มช่วงเย็น และส่วนใหญ่เมื่อหกล้มแล้ว สามารถลุกขึ้นได้เองโดยใช้เวลาน้อยกว่า 5 นาที ผลทางร่างกายหลังการหกล้มส่วนใหญ่ไม่มีการบาดเจ็บ ส่วนผลทางจิตใจหลังการหกล้มส่วนใหญ่กลัวการหกล้มซ้ำ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อการหกล้ม มี 4 ปัจจัยคือ ภาวะการเดินและการทรงตัวบกพร่อง ความยาวแขนมากกว่าความสูงเกิน 5 ซม. เพศ และปัจจัยสิ่งแวดล้อมนอกบ้าน มีทางเดินชํารุด ดังนั้นควรแก้ไขปัจจัยเสี่ยงเพื่อลดอุบัติการการหกล้มของผู้สูงอายุต่อไป

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-09-13

วิธีการอ้างอิง

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดจากผู้แต่งเรื่องนี้