วิกฤติขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพในหน่วยบริการสุขภาพของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข: ข้อเสนอเชิงนโยบาย
คำสำคัญ:
พยาบาลวิชาชีพ, การขาดแคลนพยาบาล, ข้อเสนอเชิงนโยบายบทคัดย่อ
ปัจจุบันการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพในประเทศไทยไม่ได้มีสาเหตุจากการผลิตได้ไม่พอดังในอดีต 30 ปีที่ผ่านมาแต่เป็นผลจากการที่ไม่สามารถธำรงรักษาผู้ที่มีทักษะและประสบการณ์ไว้ได้ หน่วยบริการสุขภาพสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ ประสบปัญหาการขาดตำแหน่งข้าราชการเพื่อการบรรจุ เป็นแรงผลักทำให้พยาบาลวิชาชีพใหม่ลาออกจากงานเร็ว โดยมีความรุนแรงของปัญหาแตกต่างกัน บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์จากการศึกษาคาดประมาณความต้องการพยาบาลวิชาชีพในระหว่างปี พ.ศ. 2560 - 2564 และการทบทวนประสบการณ์การแก้ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลจากกำลังคนสูงอายุของประเทศกลุ่ม OECD ผลการศึกษาพบว่า หน่วยบริการสุขภาพในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความต้องการพยาบาลวิชาชีพโดยรวมประมาณ 136,520 อัตราเต็มกำลัง และเพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพ จำเป็นต้องมีอัตรากำลังพยาบาลวิชาชีพที่มีทักษะอย่างเพียงพอ และมีการคงอยู่ในงานยาวนาน จึงควรมีตำแหน่งข้าราชการเพื่อบรรจุประมาณ 122,170 อัตรา หรือร้อยละ 90.00 ของความต้องการ แต่ปัจจุบันมีกำลังคนพยาบาลวิชาชีพรองรับเพียงร้อยละ 71.84 เท่านั้น ซึ่งในจำนวนนี้ มีพยาบาลรุ่นเยาว์ได้รับการจ้างเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขและลูกจ้างชั่วคราวถึงร้อยละ 11.34 หรือประมาณ 11,000 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงต่อการลาออกในระยะ 3 ปีข้างหน้า ดังนั้น สำนักงานปลัดฯควรแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วนโดยเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอกำหนด อัตราข้าราชการเพิ่มใหม่ อย่างน้อยปีละ 3,600 อัตรา เป็นเวลา 3 ปี เพื่อป้องกันการลาออกของคนที่มีอยู่ และ ชุดมาตรการเชิงนโยบายที่มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาอย่างยังยืนในระยะยาวประกอบด้วย มาตรการเชิงนโยบาย ด้านอุปทานได้แก่ การปรับปรุงนโยบายการจ้างงานให้สามารถดึงดูดและธำรงรักษาพยาบาลที่ดีและเก่ง การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ส่งเสริมให้พยาบาลทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะพยาบาลอาวุโส การปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการทำงานและการสร้างสรรค์ความผูกพันในองค์กร และการร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่นและประชาสังคมในการจัดบริการสุขภาพร่วมกัน มาตรการเชิงนโยบายด้านอุปสงค์ได้แก่ การออกแบบระบบบริการสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ การสร้างเสริมความแตกฉานด้านสุขภาพและศักยภาพในการดูแลตนเองของประชาชนเพื่อการส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการสุขภาพอย่างสมเหตุผล
Downloads
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2017 Journal of Health Science- วารสารวิชาการสาธารณสุข
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.