สถานการณ์การบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินระดับพื้นที่: กรณีการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศ

ผู้แต่ง

  • พินทุสร เหมพิสุทธิ์ สำนักตรวจและประเมินผล กระทรวงสาธารณสุข
  • ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • บุณยวีร์ เอื้อศิริวรรณ สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย
  • อาณัติ วรรณศรี สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย

คำสำคัญ:

ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน, ศูนย์ความเป็นเลิศ

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และแนะแนวทางการบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ที่อยู่ภายใต้กลไกของศูนย์ความเป็นเลิศ เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพโดยคัดเลือกพื้นที่ศึกษาแบบเจาะจง จำนวน 9 ศูนย์ใน 7 จังหวัด เก็บรวมรวมข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องและสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและการสนทนากลุ่มโดยใช้แนวทางการสัมภาษณ์และสนทนากลุ่มที่ปรับปรุงจาก 6 เสาหลักองค์ประกอบของระบบสุขภาพขององค์การอนามัยโลก ผลการ ศึกษาพบว่า (1) ภาวะผู้นำที่ไม่ได้เกิดจากการสั่งการ แต่เกิดจากความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอำนาจระหว่างหน่วยบริการในแนวราบ โดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับภาคี จะเป็นไปในลักษณะครูกับศิษย์หรือพี่กับน้อง โดยผู้นำจะใช้ความรู้เป็นเครื่องชี้นำ (2) การอภิบาลระบบจะปรากฏในลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างภาคี คือ ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ (3) รูปแบบบริการมีลักษณะเชื่อมโยงตั้งแต่ จุดเกิดเหตุไปจนถึงบริการเฉพาะโรค มีทิศทางบริการที่มุ่งไปสู่การให้บริการไร้รอยต่อ (4) มีระบบสารสนเทศรองรับ ในลักษณะของข้อมูลที่สามารถตอบสนองได้ทันที และมีข้อมูลป้อนกลับอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ (5) การเงินการคลังของระบบบริการมาจากหลายแหล่ง ขึ้นกับศักยภาพของหน่วยบริการในพื้นที่นั้น ๆ (6) ด้านกำลังคน มีการจัดกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติภายในหน่วยบริการและระหว่างหน่วยบริการอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศจากระบบที่แต่ละแห่งออกแบบไว้ และในพื้นที่ที่ผู้บริหารให้โอกาสหรืออิสระในการทดลองสร้างนวัตกรรม จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคลากรมีศักยภาพในการคิด ริเริ่มหรือต่อยอดงานได้มากขึ้น นอกจากนี้ การศึกษามีข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนระบบไว้ 5 ขั้นตอนได้แก่ (1)การระดมภาคี (2) การระดมสมอง (3) การวิเคราะห์ (4) การปรับแผน (5) การนำสู่การปฏิบัติ กล่าวโดยสรุปสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจำเป็นต้องมุ่งส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างภาคีในจังหวัดหรือเขตโดยเริ่มจากบุคคลหรือองค์กรที่มีภาวะผู้นำ มีองค์ความรู้ มีการบูรณาการงบประมาณที่มาจากหลากหลายแหล่ง ส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูล เปิดพื้นที่ให้มีอิสระในการวางแผน กำหนดทิศทางบริหารแผนที่สอดคล้อง กับบริบทพื้นที่ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดควรมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้น

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2017-10-31

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดจากผู้แต่งเรื่องนี้