แนวทางการเตรียมความพร้อมของทีมปฏิบัติการเฝ้าระวัง สอบสวน และควบคุมป้องกันโรคสำหรับโรคติดต่ออันตรายที่รุนแรง ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก
คำสำคัญ:
แนวทาง, การเตรียมความพร้อม, ทีมปฎิบัติการ, โรคติดต่ออันตรายที่รุนแรง, ชายแดนไทย-เมียนมาบทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางการเตรียมความพร้อมของทีมปฏิบัติการเฝ้าระวัง สอบสวน และควบคุมป้องกันโรค สำหรับโรคติดต่ออันตรายที่รุนแรง ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก โดยมีขั้นตอนการวิจัย 3 ขั้นตอน คือ (1) ศึกษาการบริหารจัดการของทีมปฏิบัติการในการสอบสวนและควบคุมป้องกันโรคโควิด 19 ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก โดยการทบทวนเอกสาร และการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยการสนทนากลุ่มในกลุ่มบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ในเดือนเมษายน 2566 (2) การพัฒนาแนวทางการเตรียมความพร้อมของทีมปฏิบัติการฯ โดยการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภายนอก และผู้ทรงคุณวุฒิภายใน และ (3) การประเมินแนวทางการเตรียมความพร้อมของทีมปฏิบัติการเฝ้าระวังฯ ที่พัฒนาขึ้น โดยการสอบถามความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางฯ ที่ได้จัดทำขึ้น ในคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินในอำเภอชายแดน และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก
ผลการศึกษา แนวทางการเตรียมความพร้อมของทีมปฏิบัติการเฝ้าระวังฯ ประกอบด้วย (1) ด้านการเตรียมการ มีทีมปฏิบัติการในพื้นที่ภายใต้คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินระดับอำเภอ หัวหน้าทีมควรเป็นแพทย์หรือนักวิชาการสาธารณสุขที่มีประสบการณ์ด้านระบาดวิทยาหรือควบคุมป้องกันโรค บุคลากรของทีมควรได้รับการฝึกทั้งในห้องเรียนและในพื้นที่จริง งบประมาณของทีมปฏิบัติการในพื้นที่ควรมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบดูแล วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ของทีมปฏิบัติการในพื้นที่ควรมีสต็อกเก็บวัสดุอุปกรณ์ให้มีปริมาณเพียงพอและพร้อมใช้ การบริหารจัดการในปฏิบัติงานของทีมปฏิบัติการในพื้นที่ กรณีเป็นการระบาดเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันการจัดทีมปฏิบัติการควรเป็นทีมเดียว ส่วนเหตุการณ์ที่พบผู้ป่วยเป็นรายๆ ในชุมชน การจัดทีมย่อยของทีมปฏิบัติการควรเป็นหลายทีม (2) ด้านกระบวนการ การเฝ้าระวัง ทีมตระหนักรู้สถานการณ์ควรติดตามข่าวการระบาดของโรคติดต่ออันตรายเมื่อพบการระบาดควรวางระบบเฝ้าระวังโรคและสื่อสารให้กับหน่วยงานสาธารณสุขและอื่นๆ ในพื้นที่ชายแดนให้ทราบ การสอบสวนโรค ควรจัดทำเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินเพื่อระบุความเสี่ยงของผู้สัมผัสโรคเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ การควบคุมและป้องกันโรคควรใช้มาตรการควบคุมป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ (3) ด้านการกำกับและติดตาม ควรมีการควบคุมกำกับ และติดตามการทำงานของทีมปฏิบัติการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ต่อเนื่อง โดยหัวหน้าทีมปฏิบัติการในพื้นที่ระดับอำเภอหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายที่ผ่านการฝึกมาเป็นอย่างดีแล้ว ผลการประเมินของแนวทางฯ ที่พัฒนาขึ้น พบว่าโดยภาพรวมแนวทางฯ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ความเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก และ ความเป็นประโยชน์อยู่ในระดับมาก อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดการระบาดขึ้น แนวทางในการเตรียมความพร้อมนี้ อาจต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามบริบทพื้นที่ และลักษณะการระบาดของโรค ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป
Downloads
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2024 กระทรวงสาธารณสุข

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.