พฤติกรรมการดูแลตนเองด้านโภชนาการของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 หมู่บ้านอุดมทรัพย์ อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม

ผู้แต่ง

  • อรทิพย์ แสนเมืองเคน สาขาวิชาโภชนศาสตร์เพื่อสุขภาพ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • เบญจา มุกตพันธุ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์และกลุ่มวิจัยการป้องกันและควบคุมโรคเบาหวานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยชอนแก่น
  • สมใจ ศรีหล้า คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • พิษณุ อุตตมะเวทิน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คำสำคัญ:

พฤติกรรมการดูแลตนเอง, โภชนาการ, ผู้ป่วยเบาหวาน

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลตนเองด้านโภชนาการของ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในหมู่บ้านอุดมทรัพย์ อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม โดยศึกษาการรับรู้ ความเชื่อเกี่ยวกับโรคเบาหวาน และพฤติกรรมการดูแลตนเองด้านโภชนาการของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 20 คนเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและการสังเกต เก็บข้อมูลการบริโภคอาหารย้อนหลัง 24 ชั่วโมง เพื่อวิเคราะห์ปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ผู้ป่วยได้รับโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป INMUCAL สำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีจัดกลุ่มความหมายแยกประเด็นและวิเคราะห์สรุปอุปนัย ระยะเวลาเก็บข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2558 ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยมีความเชื่อเกี่ยวกับโรคเบาหวานว่าเป็นโรคที่ไม่หายขาด ผู้ป่วยรับรู้ว่าสาเหตุของโรคเบาหวานเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีรสหวานมากเกินไป เกิดจากกรรมพันธุ์และสารเคมี รับรู้ว่าภาวะแทรกซ้อนทำให้เบาหวานขึ้นตา เป็นแผลที่เท้า เป็นไตวายและตายได้ ซึ่งเป็นการรับรู้ที่ได้รับจากผู้ให้การรักษาและประสบการณ์ของตัวผู้ป่วยเอง ผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้มีการจำกัดปริมาณการบริโภคอาหารที่มีรสหวานและผลไม้ที่มีรสหวาน ผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ไม่จำกัดอาหารดังกล่าวเพราะคิดว่าตนเองไม่มีอาการผิดปกติ ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่นิยมบริโภคอาหารผัดทอดและชอบอาหารรสเค็มเพราะกินอาหารอีสานเป็นหลัก ผู้ป่วยส่วนใหญ่บริโภคข้าวเหนียวเป็นหลัก โดยให้เหตุผลว่ากินข้าวเจ้าแล้วไม่อยู่ท้อง และที่บ้านทำนาข้าวเหนียว ซึ่งไม่ต้องซื้อ การที่แพทย์แนะนำให้กินข้าวเหนียวลดลงปฏิบัติได้ยากเพราะทำให้เหนื่อย อ่อนเพลีย นอกจากนี้ผู้ป่วยมีการใช้สมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร่วมด้วยโดยมาจากคำแนะนำของเพื่อนบ้านและการโฆษณาทางวิทยุจากการวิเคราะห์พลังงานจากอาหารที่ได้รับพบว่า ผู้ป่วยได้รับพลังงานเพียงครึ่งหนึ่งของพลังงานที่ควรได้รับและพลังงานร้อยละ 70 มาจากคาร์โบไฮเดรต สรุปผู้ป่วยเบาหวานมีการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุ ภาวะแทรกซ้อนสอดคล้องกับหลักการทางการแพทย์ การบริโภคอาหารนิยมตามรูปแบบการกินของคนอีสานที่กินข้าวเหนียวเป็นหลักและเปลี่ยนแปลงยาก ผู้ป่วยมีการใช้การรักษาพื้นบ้านร่วมกับการรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2017-11-01

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ