การประเมินคุณภาพน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญ

ผู้แต่ง

  • สลักจิต ชุติพงษ์วิเวท สำนักวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

คำสำคัญ:

น้ำหยอดเหรียญ, น้ำบริโภค, มาตรฐาน

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำข้อมูล ที่ได้ไปใช้ประกอบการกำหนดมาตรฐานเฉพาะในการควบคุมคุณภาพน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญ เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาภาคตัดขวาง (cross-sectional study) โดยการเก็บตัวอย่างน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญทั่วประเทศระหว่างเดือนมกราคมถึงกันยายน 2555 จำนวน 2,025 ตัวอย่าง ผลการศึกษาพบว่า มีตู้น้ำหยอดเหรียญตั้งอยู่ในสภาพ สิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ 790 ตัวอย่าง (ร้อยละ 39.0) และมีฉลากครบถ้วนตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2553) 29 ตัวอย่าง (ร้อยละ 1.4) โดยมีผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญไม่ผ่านมาตรฐาน 761 ตัวอย่าง (ร้อยละ 37.6) จำแนกเป็นไม่ผ่านมาตรฐานทางเคมี 487 ตัวอย่าง (ร้อยละ 24.0)สาเหตุจากความเป็น กรด-ด่าง (pH) 350 ตัวอย่าง (ร้อยละ 17.3) ความกระด้าง 176 ตัวอย่าง (ร้อยละ 8.7) และปริมาณสาร 57 ตัวอย่าง (ร้อยละ 2.8) และผลการวิเคราะห์ไม่ผ่านมาตรฐานด้านจุลินทรีย์ 323 ตัวอย่าง (ร้อยละ 15.9) โดยมีสาเหตุจากการพบโคลิฟอร์มเกินมาตรฐาน 260 ตัวอย่าง (ร้อยละ 12.8) พบเชื้อ E. coli 56 ตัวอย่าง (ร้อยละ 2.7) และพบเชื้อที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษเป็น 41 ตัวอย่าง (ร้อยละ 2.0) เมื่อศึกษาปัจจัยที่อาจมีผลต่อความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญจากแบบสำรวจ จำนวน 1,399 ชุด พบว่ามีตะไคร่น้ำที่บริเวณช่องหัวจ่ายน้ำจำนวน 302 ตู้ มีตู้ที่ไม่มีประตูปิดช่องจ่ายน้ำจำนวน 120 ตู้และมีตู้ที่มีการเปลี่ยนไส้กรองเพียง 975 ตู้จากแบบสอบถาม จำนวน 980 ชุด พบว่า มีตู้น้ำหยอดเหรียญที่มีอายุใช้งานมากกว่า 2 ปีจำนวน 105 ตู้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้นำผลวิเคราะห์และข้อมูลการวิจัยนี้ไปใช้ประกอบการกำหนดมาตรฐานเพื่อควบคุม คุณภาพน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2556 กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 362 พ.ศ. 2556 เรื่องน้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคมพ.ศ. 2557 ผลักดันให้เทศบาล ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ. 2535 ออกเทศบัญญัติเรื่องการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำหยอดเหรียญเพื่อบังคับใช้ในพื้นที่รับผิดชอบทำให้ประชาชนได้บริโภคน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัย สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2559) ที่กำหนดให้รัฐต้องดูแลและจัดหาน้ำดื่มปลอดภัยสำหรับประชาชน

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2017-10-25

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ