สถานการณ์และผลกระทบจากการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเครือข่ายบริการสุขภาพโรงพยาบาลศรีสะเกษ
คำสำคัญ:
การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น, สถานการณ์, ผลกระทบบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและเปรียบเทียบผลกระทบของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและสตรีตั้งครรภ์อายุ 20-34 ปี ด้านการมารับบริการสาธารณสุข ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลลัพธ์ทาง สูติกรรม และด้านมิติทางสังคม และการศึกษา กลุ่มศึกษาเป็นมารดาที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีโดยมีมารดาอายุ 20-34 ปีเป็นกลุ่มเปรียบเทียบ อยู่ในอำเภอเมืองศรีสะเกษ และมาคลอดที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ ระหว่างเดือนตุลาคม 2556 ถึงกันยายน 2557 เก็บข้อมูลจากแฟ้มเวชระเบียนของโรงพยาบาลศรีสะเกษ และใช้แบบสอบถามโดยการสัมภาษณ์ในส่วนของข้อมูลด้านมิติทางสังคมและวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (descriptive statistics) และเปรียบเทียบผลกระทบของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและสตรีตั้งครรภ์อายุ 20-34 ปี ด้วยสถิติ Chi-Square test, Odds ratio และ 95% confident interval พบว่ามีสตรี จำนวนคลอดรวม 1,804 คน เป็นวัยรุ่น 275 คน คิดเป็นร้อยละ 15.24 เมื่อเทียบกับมารดาอายุ 20-34 ปี มารดาวัยรุ่น มาฝากครรภ์แรกล่าช้า (OR=3.78) และฝากครรภ์ไม่ครบตามเกณฑ์คุณภาพ (OR-1.51) มีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าต่อการเกิดภาวะโลหิตจาง (OR-1.70) การติดเชื้อ HIV (OR-10.32)และการติดเชื้อซิฟิลิส (OR-1.71) ส่วนการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B (OR=0.38) ไม่แตกต่างกัน (p=0.09)มารดาวัยรุ่นมีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าต่อการคลอดทารกน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ (OR=1.77) ภาวะขาดออกซิเจนในทารกแรกเกิด (OR=2.37) การคลอดก่อนกำหนด (OR=1.44) แต่มารดาวัยรุ่นมีโอกาสการผ่าตัดคลอดต่ำกว่า (OR-0.67) หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ (OR=4.59) มีความคิดจะทำแท้ง (OR=2.26) ยังไม่มีผู้ออมรับเป็นสามี (OR-3.01) ไม่ได้เลี้ยงลูกเอง (OR=3.22) และแยกกันอยู่กับสามี (OR-2.37) มีอัตราสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ดังนั้นควรให้ความสำคัญตั้งแต่การป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรกรณีตั้งครรภ์เน้นให้ฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์และฝากครรภ์ครบตามเกณฑ์คุณภาพ การกินอาหารตามหลักโภชนาการเพื่อลดภาวะโลหิตจาง การให้คำแนะนำเพื่อป้องกันและลดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งส่งผลต่อภาวะทารกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์และภาวะขาดออกซิเจนในทารกแรกเกิดการดูแลด้านสังคมและการศึกษาเพื่อป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การทำแท้ง ตลอดจนแนะนำการเลี้ยงลูกภายหลังคลอด
Downloads
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2017 Journal of Health Science- วารสารวิชาการสาธารณสุข
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.