การประเมินผลโครงการการฝึกผู้ปกครองแปรงฟันให้เด็กในคลินิกเด็กดีโรงพยาบาลพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ปี 2558-2560

ผู้แต่ง

  • ฉัตรชัย มาแก้ว กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลพรหมพิราม พิษณุโลก
  • กรองทอง มาแก้ว กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลพรหมพิราม พิษณุโลก

คำสำคัญ:

การประเมินผล, เด็กปฐมวัย, การฝึกผู้ปกครองแปรงฟันให้เด็ก, โรคฟันผุ

บทคัดย่อ

การแปรงฟันให้เด็กโดยผู้ปกครองเป็นวิธีการที่จะช่วยในการป้องกันการเกิดโรคฟันผุในกลุ่มเด็กปฐมวัย การ ศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลของโครงการการฝึกผู้ปกครองแปรงฟันให้เด็กโดยดำเนินการในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ปกครองที่ไม่เคยแปรงฟันให้กับเด็กและกลุ่มเด็กอายุ 9 เดือนถึง 1 ปี 6 เดือน ที่มีฟันขึ้นมาในช่องปากและไม่มีโรคฟันผุที่มารับบริการในคลินิกเด็กดี โรงพยาบาลพรหมพิรามในปี 2558-2560 วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนาค่าสถิติความถี่ ร้อยละและ Chi-square ผลการศึกษาพบว่า ผู้ปกครองพาเด็กมารับบริการตามนัดทุกครั้งมีค่าร้อยละ 77.1, 76.1 และ 89.4 เด็กได้รับการแปรงฟันโดยผู้ปกครองร้อยละ 93.5, 93.0 และ 91.5 ความถี่ในการแปรงฟันให้กับเด็กของผู้ปกครอง แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งทุกวันร้อยละ 35.3, 38.0 และ 40.4 แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งทุกวันร้อยละ 46.4, 45.1 และ 48.9 แปรงฟันไม่สม่ำเสมอและไม่ได้รับการแปรงร้อยละ 18.3, 16.9 และ 10.6 ตามลำดับ การติดตามผลการเกิดโรคฟันผุของเด็กที่เข้าร่วมโครงการเมื่อเด็กอายุครบ 3 ปี พบเด็กที่ปราศจากฟันผุคิดเป็นร้อยละ 61.0 ความถี่ในการแปรงฟันของผู้ปกครองให้เด็กกับการเกิดโรคฟันผุเมื่อเด็กอายุครบ 3 ปี พบเด็กที่ได้รับการแปรงฟันโดยผู้ปกครองอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ทุกวันไม่มีฟันผุคิดเป็นร้อยละ 95.5 ความถี่ในการแปรงฟันของผู้ปกครองให้กับเด็กมีความสัมพันธ์กับการป้องกันการเกิดโรคฟันผุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001)

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2018-07-03

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ