การขูดหินน้ำลายเป็นประจำเหมาะสมหรือไม่

ผู้แต่ง

  • สุดาดวง กฤษฎาพงษ์ ภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำสำคัญ:

การขูดหินน้ำลาย, คราบจุลินทรีย์, หินน้ำลาย, อนามัยช่องปาก, เหงือกอักเสบ

บทคัดย่อ

การขูดหินน้ำลายเป็นประจำเป็นงานบริการทางทันตกรรมที่พบได้โดยทั่วไปในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย คิดเป็นปริมาณภาระงานและค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ประเด็นคำถามเรื่องประโยชน์และความจำเป็นในการขูดหินน้ำลายเป็นประจำเกิดขึ้นช่วงหลัง ค.ศ. 2000 หลังจากที่องค์ความรู้เรื่องธรรมชาติของโรคปริทันต์อักเสบเปลี่ยนไป หินน้ำลายไม่ใช่สาเหตุหลักของโรคปริทันต์อักเสบ ไม่ใช่ตัวทำนายการเป็นโรคปริทันต์อักเสบในอนาคต การขูดหินน้ำลายเป็นประจำเพราะเชื่อว่าจะป้องกันการเกิดโรคปริทันต์อักเสบในอนาคตจึงไม่สมเหตุผล งานวิจัยมากมายประเมินประสิทธิภาพของการขูดหินน้ำลายเป็นประจำพบว่าสุขภาพเหงือกที่ดีขึ้นมาจากการสอนแปรงฟันในระหว่าง ที่ให้บริการขูดหินน้ำลาย การขูดหินน้ำลายเป็นประจำโดยไม่ได้สอนแปรงฟันร่วมด้วยไม่มีประสิทธิภาพในการปรับปรุง สุขภาพเหงือก การแปรงฟันกำจัดคราบจุลินทรีย์บริเวณคอฟันออกให้สะอาดจึงสำคัญกว่าการไปรับบริการขูดหินน้ำลายโดยทันตบุคลากร ทั้งนี้เพราะเหงือกอักเสบเกิดจากคราบจุลินทรีย์ที่บริเวณคอฟัน ในขณะที่หินน้ำลายโดยตัวของมันเองไม่มีอันตรายแต่มีพื้นผิวขรุขระจึงทำให้คราบจุลินทรีย์เกาะได้ง่าย หินน้ำลายเกิดจากการตกตะกอนของแคลเซียมบนคราบจุลินทรีย์ที่ไม่ได้ถูกกำจัดออกเป็นเวลานาน การมีหินน้ำลายจึงบ่งชี้ถึงบริเวณที่แปรงไม่โดนคอฟัน ผู้ป่วยที่ปรับปรุงการแปรงฟันของตนเองได้จึงไม่จำเป็นต้องไปขูดหินน้ำลายเป็นประจำ ในขณะที่การไปขูดหินน้ำลายเป็นประจำโดยไม่ปรับปรุงการแปรงฟันไม่ได้ช่วยให้สุขภาพเหงือกดีขึ้นและยังสิ้นเปลืองทรัพยากร การขูดหินน้ำลายเป็นประจำ จึงไม่มีทางเป็นรูปแบบของบริการที่เหมาะสมได้ บริการขูดหินน้ำลายที่เหมาะสมไม่ใช่การกำจัดก้อนหินน้ำลายออกเท่านั้น แต่ใช้การขูดหินน้ำลายและความรู้สึกสะอาดหลังการขูดเป็นสื่อในการสอนและสร้างทัศนคติที่ดีแก่ผู้ป่วย ฝึกทักษะให้ผู้ป่วยสามารถวางแปรงสีฟันให้ขนแปรงโดนคอฟันบริเวณที่มีหินน้ำลายได้ ทำให้ผู้ป่วยเชื่อมั่นในความสามารถของตนและอยากจะรักษาอนามัยช่องปากที่ดีหลังจากขูดหินน้ำลายเสร็จแล้วไว้ตลอดไป วัฒนธรรมการขูดหินน้ำลายเป็นประจำที่เป็นการพึ่งพาทันตบุคลากรควรปรับเปลี่ยนมาสู่รูปแบบที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และ มีอำนาจในการดูแลสุขภาพของตน ทันตบุคลากรควรที่จะสร้างความสามารถให้กับประชาชนในการดูแลอนามัย-ช่องปากของตนเองให้ดีได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาทันตบุคลากรในการขูดหินน้ำลายเป็นประจำอีกต่อไป

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2018-07-03

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

บทความปริทัศน์