การพัฒนารูปแบบการส่งเสริมสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลห้วยแอ่ง จังหวัดมหาสารคาม

ผู้แต่ง

  • กรรณิการ์ โง่นสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยแอ่ง จังหวัดมหาสารคาม
  • จันทร์เพ็ญ ขัติยะวงศ์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยแอ่ง จังหวัดมหาสารคาม
  • นิจลาวรรณ เพชรรินทร์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยแอ่ง จังหวัดมหาสารคาม

คำสำคัญ:

การส่งเสริมสุขภาพ, กลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน, การมีส่วนร่วม, ภาคีเครือข่าย

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน และ ศึกษาผลของการพัฒนา เพื่อจะน้ำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและลดอัตราป่วยรายใหม่ในชุมชน โดยวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการประชากรที่ศึกษาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเสี่ยงเบาหวานจำนวน 70 คน และกลุ่มภาคีเครือข่ายในชุมชน จำนวน 35 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงตามเกณฑ์ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 ถึงเดือนมกราคม 2558 เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามข้อมูลเชิงปริมาณกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่ม เก็บก่อนและหลังดำเนินงาน ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้แบบบันทึกการสนทนากลุ่มและแบบ-สัมภาษณ์เก็บข้อมูลระหว่างการดำเนินงานทุกขั้นตอน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา ค่าความถี่ ร้อยละเปรียบเทียบผลต่างก่อนและหลังดำเนินงาน ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis)ผลการศึกษาได้รูปแบบการส่งเสริมสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน คือ "HA-MSKH-Model" ที่นำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานในพื้นที่ได้ผล โดยมีขั้นตอนและกิจกรรมสำคัญดังนี้ 1. ขั้นวางแผน กิจกรรมคือ 1) การประชุมชี้แจงทีมสุขภาพ (2) จัดประชาคมกลุ่มภาคีเครือข่ายระดับตำบลเพื่อคืนข้อมูลชี้แจงแนวทางดำเนินงาน (3)ตรวจยืนยันระดับน้ำตาลกลุ่มเสี่ยงก่อนดำเนินการ 2. ขั้นปฏิบัติการตามแผน กิจกรรมคือ (1) อบรมอาสาสมัครสาธารณสุข (2) จัดประชาคมในระดับหมู่บ้าน (3) ประชาสัมพันธ์โครงการ (4) อบรมให้ความรู้และพัฒนาทักษะการส่งเสริมสุขภาพแก่กลุ่มเสี่ยงเบาหวาน (5) ประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนและกฎกติกาหมู่บ้านเพื่อดำเนินงานแก้ไขปัญหา (6) การดำเนินงานตามแผนและกฎกติกา 3 ขั้นติดตามสังเกตการณ์ กิจกรรมคือ (1) ติดตามเฝ้าระวัง สุขภาพและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงโดยอาสาสมัครสาธารณสุข (2) กำกับติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 4. ขั้นสะท้อนผลการปฏิบัติงาน กิจกรรมคือ (1) ถอดบทเรียนหาปัจจัยความสำเร็จ (2) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพบว่าผลจากการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานนี้ทำให้กลุ่มเสี่ยงเบาหวานมีระดับความรู้ การรับรู้ และพฤติกรรมสุขภาพในระดับดีเพิ่มขึ้น ร้อยละ 58.58, 77.16 และ 87.15 ตามลำดับ รวมทั้ง มีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอยู่ในเกณฑ์ปกติ ร้อยละ 60.00 ผลการศึกษานี้ชี้ชัดว่า "HA-MSKHi-Model" เป็น รูปแบบการส่งเสริมสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง และชุมชนช่วยดูแลคนในชุมชน ซึ่งปัจจัยความสำเร็จของรูปแบบการดำเนินงานนี้ คือ "การให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาของชุมชนเอง"

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2017-10-24

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ