ความต้องการได้รับสวัสดิการของผู้สูงอายุ ในการรับบริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในเขตอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก
คำสำคัญ:
ผู้สูงอายุ, สวัสดิการผู้สูงอายุบทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการการได้รับสวัสดิการ และเปรียบเทียบความต้องการการได้รับสวัสดิการของผู้สูงอายุในอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก จำแนกตามเพศ สถานภาพ อายุ ระดับการศึกษา รายได้ความสัมพันธ์ในครอบครัว แหล่งที่อยู่อาศัย การเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ และการประเมินผู้สูงอายุตามกลุ่มศักยภาพและตามความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน ประชากรในการศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีชื่ออยู่ตามทะเบียนบ้านอาศัยอยู่จริงและไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแต่มาอาศัยเกิน 6 เดือน อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก จาก 7 ตำบล จำนวน 4,628 คน โดยศึกษาจากประชากรกลุ่มตัวอย่าง 368คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ แบบสอบถามที่มีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.953 โดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบ t-test ใช้ทดสอบค่าเฉลี่ยความคิดเห็นกรณี 2 กลุ่ม ผลการวิจัยพบว่า (1) ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย สถานภาพสมรสมาก ที่สุด (ร้อยละ 56.5) มีอายุ 60-65 ปี มากที่สุด (ร้อยละ 28.0) มีระดับการศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษามากที่สุด (ร้อยละ 78.0) มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่าหรือเท่ากับ 5,000 บาท มากที่สุด (ร้อยละ 63.0) ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอ มีการเก็บออมแบบพอมีพอใช้ไม่มีเหลือมากที่สุด (ร้อยละ 59.0) ได้รับรายได้เพิ่มจากการหารายได้พิเศษด้วยตนเองมากที่สุด (ร้อยละ 47.8) ผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่อาศัยกับครอบครัวตัวเองกับคู่สมรส (ร้อยละ 58.2) มีแหล่งที่อยู่อาศัยในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลมากกว่าเขตเทศบาล สมัครเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุมากกว่าไม่ได้สมัครเป็นสมาชิก การประเมินผู้สูงอายุตามกลุ่มศักยภาพตามความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน พบว่า ผู้สูงอายุที่ตอบแบบสอบถามเป็นกลุ่มติดสังคมมากที่สุด (ร้อยละ 85.8) (2) ความต้องการได้รับสวัสดิการของผู้สูงอายุในอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก 7 ด้าน พบว่า ผู้สูงอายุมีความต้องการได้รับสวัสดิการในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (Mean=4.05) และเมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่ต้องการมากที่สุดเท่ากัน 2 ด้าน คือ ด้านการประกอบอาชีพและรายได้และด้านการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพและการจัดการศพตามประเพณี (Mean=4.42) รองลงมาคือด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Mean=4.20) และด้านสิ่งอำนวยความสะดวก และความปลอดภัย (Mean=4.12) ข้อเสนอแนะต่อ ผู้บริหารสาธารณสุขระดับจังหวัด ควรมีการบูรณาการงานด้านผู้สูงอายุตามภารกิจของแต่ละกระทรวง ทบวง กรม มีการจัดสวัสดิการหลังอายุ 60 ปีให้กับผู้สูงอายุทุกราย เพื่อเป็นหลักประกันในการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข และให้การช่วยเหลือตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุไทยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
Downloads
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2018 Journal of Health Science- วารสารวิชาการสาธารณสุข

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.