การเข้ารักษาในโรงพยาบาลซ้ำภายใน 30 วันในผู้ป่วยภาวะหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลันที่ได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด

ผู้แต่ง

  • พาวุฒิ เมฆวิชัย กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
  • รินธิดา จินตนะศิริ กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
  • สลิลทิพย์ คุณาดิศรณ์ กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
  • ชัยวิวัฒน์ ตุงคะเสรีรักษ์ กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

คำสำคัญ:

การเข้ารักษาในโรงพยาบาลซ้ำ, ภาวะหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน, การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด

บทคัดย่อ

ภาวะหลอดเลือดสมองตีบเป็นโรคที่พบได้บ่อย นอกจากจะมีระยะเวลารักษาในโรงพยาบาลยาวนานแล้ว ยังพบปัญหาการกลับเข้ารักษาในโรงพยาบาลสูงโดยเฉพาะในช่วงเวลา 30 วันแรกหลังจากจำหน่าย การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหาอัตราและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกลับเข้ารักษาในโรงพยาบาลภายใน 30 วัน ใน ผู้ป่วยภาวะหลอดเลือดสมองตีบที่ได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นการศึกษาชนิด cohort แบบไปข้างหน้าในผู้ป่วยภาวะหลอดเลือดสมองตีบที่ได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โดยผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาและจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลในช่วงเวลาระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 ถึงธันวาคม 2557 เก็บข้อมูลของผู้ป่วยระหว่างเข้ารักษาในโรงพยาบาลครั้งแรกรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการกลับเข้ารักษาซ้ำ และนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ทางสถิติตามวัตถุประสงค์ของการศึกษาผลการศึกษาพบว่ามีผู้ป่วยภาวะหลอดเลือดสมองตีบที่ได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดและจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลในช่วงเวลาที่ทำการศึกษาทั้งสิ้นจำนวน 238 ราย เป็นเพศชายร้อยละ 53.8 เพศหญิงร้อยละ 46.2 ผู้ป่วยจำนวน 24 ราย (ร้อยละ10.1) กลับเข้าโรงพยาบาลซ้ำภายใน 30 วัน โดยร้อยละ 80.0 เกิดขึ้นภายใน 15 วันแรกหลังจากจำหน่าย สาเหตุที่พบบ่อยได้แก่ ภาวะปอดอักเสบ (ร้อยละ 41.6) การกลับเป็นซ้ำของโรคหลอด-เลือดสมอง (ร้อยละ 16.6) และโรคหัวใจและหลอดเลือด (ร้อยละ 16.6) ผลจากการวิเคราะห์พบว่าผู้ป่วยที่เกิดภาวะปอดอักเสบหรือภาวะเลือดออกในสมองระหว่างการรักษาในโรงพยาบาลครั้งแรกมีความสัมพันธ์กับการกลับเข้าโรงพยาบาลซ้ำภายใน 30 วันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 โดยมีค่า relative risk เท่ากับ 4.75 (2.31-9.76) และ 3.47 (1.63-7.39) ตามลำดับ โดยสรุป การกลับเข้าโรงพยาบาลซ้ำภายใน 30 วันในผู้ป่วยภาวะหลอดเลือดสมองตีบที่ได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดในโรงพยาบาลมหาราช-นครราชสีมา เท่ากับร้อยละ 10.1 โดยร้อยละ 80.0 กลับเข้าโรงพยาบาลภายใน 15 วันแรกหลังจากจำหน่ายสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ ภาวะปอดอักเสบ (ร้อยละ 41.6) โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกลับเข้าโรงพยาบาลช้ำภายใน 30 วันคือ ผู้ป่วยเกิดภาวะปอดอักเสบหรือเลือดออกในสมองระหว่างการรักษาในโรงพยาบาลครั้งแรก

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2018-08-24

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ