อุบัติการณ์และลักษณะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจในผู้ป่วยที่ได้รับการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกายในห้องผ่าตัดและห้องพักฟื้นโรงพยาบาลแพร่

ผู้แต่ง

  • นงเยาว์ ธราวรรณ กลุ่มงานการพยาบาลวิสัญญี โรงพยาบาลแพร่
  • ยุพาพร หงษ์สามสิบเจ็ด กลุ่มงานการพยาบาลวิสัญญี โรงพยาบาลแพร่
  • มิ่งสกุล แดนโพธิ์ กลุ่มงานการพยาบาลวิสัญญี โรงพยาบาลแพร่

คำสำคัญ:

อุบัติการณ์, ลักษณะเสี่ยง, ภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจ, การระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกาย, ภาวะความอิ่มตัวของออกซิเจนตํ่า, ภาวะบีบเกร็งของหลอดลม

บทคัดย่อ

การให้การระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกายเป็นการทําให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่รู้สึกเจ็บปวด ยาที่ใช้ในการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกายอาจทําให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบหายใจ และต้องได้รับการรักษาเพิ่ม นอนโรงพยาบาลนานขึ้น หรือต้องได้รับการรักษาต่อในห้องไอซียูได้ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอุบัติการณ์การเกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจหลังให้การระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกาย โดยเปรียบเทียบลักษณะที่เป็นลักษณะเสี่ยงระหว่างการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่พบมาก และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจในการให้การระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกายในห้องผ่าตัด และห้องพักฟื้น เป็นการศึกษาเชิงพยากรณ์ แบบ retrospective cohort design ในห้องผ่าตัดและห้องพักฟื้น โรงพยาบาลแพร่ โดยศึกษาในผู้ป่วยที่ได้รับการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกายที่เข้ารับการผ่าตัดระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2558 จํานวน 300 ราย รวบรวมข้อมูลทั่วไป และข้อมูลการให้การระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกาย ค้นหาอุบัติการณ์ภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจในผู้ป่วยจากการรายงานอุบัติการณ์ความเสี่ยงของหัวหน้าทีมวิสัญญีพยาบาลที่ติดตามหลังเกิดอุบัติการณ์จนสิ้นสุด การดูแลที่ห้องพักฟื้น และติดตามแฟ้มความเสี่ยงของหน่วยงาน โดยค้นหาลักษณะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจ จากนั้นสรุปลักษณะเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนร่วมกับทีมวิสัญญีแพทย์ วิสัญญีพยาบาลและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงวิเคราะห์ด้วย logistic regression ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่มารับการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกายระหว่างเดือนมีนาคมถึงตุลาคม พ.ศ. 2558 จํานวน 4,628 ราย มีภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจจํานวน 100 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.2 ผู้ป่วยที่นํามาศึกษาจํานวน 300 ราย เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายในอัตราส่วน 2 ต่อ 1 อายุตั้งแต่ 1-87 ปี เฉลี่ย 47.91 ปี (SD=18.2) ภาวะแทรกซ้อนที่พบมากคือภาวะความอิ่มตัวของออกซิเจนตํ่า(desaturation) จํานวน 45 ครั้ง (ร้อยละ 15.4) รองลงมาคือภาวะบีบเกร็งของหลอดลม (bronchospasm) จํานวน 68 ครั้ง (ร้อยละ 22.5) พบลักษณะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความอิ่มตัวของออกซิเจนตํ่า (desaturation) อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ ได้แก่ อายุ >60 ปี (OR 7.7), ASA Classification 3 หรือ American Society of Anesthesiologist classi-fication 3 (OR 6.9) ความเร่งด่วนในการผ่าตัด หรือ emergency case (OR 16.0) และระยะเวลาของการระงับความรู้สึก >60 นาที (OR 4.8) ส่วนลักษณะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะบีบเกร็งของหลอดลม (Bronchospasm) อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ ได้แก่ อายุ >60 ปี (OR 3.1), ASA Classification 2 หรือ American Society of Anesthesiologist Class 2 (OR 2.7) ความเร่งด่วนในการผ่าตัด หรือ emergency case (OR 4.2) ระยะเวลาของการระงับความรู้สึก>91 นาที (OR 6.6) ผู้ป่วยที่มีประวัติติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ URI (OR 21.8) ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคทางเดินหายใจแบบ chronic lung disease ชนิด COPD (OR 19.9) สรุปผลการศึกษาสามารถนํามาพัฒนากลุ่มงานการพยาบาลวิสัญญี โดยใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนางานต่อไป โดยการจัดลําดับความสําคัญของปัญหาและหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติการณ์ซํ้า หรือเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาต่อไปในอนาคต

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2018-12-28

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ