ความไม่สอดคล้องระหว่างความคาดหวังกับประสบการณ์จริงในการคลอดบุตรของผู้หญิงไทย

ผู้แต่ง

  • กมลทิพย์ ตั้งหลักมั่นคง วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี

คำสำคัญ:

ความคาดหวัง, ประสบการณ์จริง, การคลอดบุตร

บทคัดย่อ

ในประสบการณ์การคลอดบุตร หญิงตั้งครรภ์อาจพบทั้งสิ่งที่คาดหวังและไม่คาดหวังให้เกิดขึ้น รวมทั้งสิ่งที่คาดหวังให้เกิด อาจเกิดหรือไม่เกิดขึ้นจริงก็ได้ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสอดคล้องระหว่างความคาดหวัง กับประสบการณ์จริงในการคลอดบุตร และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจต่อการคลอดบุตร ผลการศึกษาจะช่วยให้บุคลากรสาธารณสุขมีแนวทางในการเตรียมคลอดบุตรให้กับหญิงตั้งครรภ์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม วิธีการ ศึกษาเป็นการศึกษาระยะยาวไปข้างหน้า กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงตั้งครรภ์อายุ 18 - 45 ปี จำนวน 196 คน ยินดีเข้าร่วมวิจัยในช่วงอายุครรภ์ 32-42 สัปดาห์ และวันที่ 2 หลังคลอด เก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม 3 ชุด ได้แก่แบบวัดความคาดหวังและประสบการณ์ในการคลอด แบบวัดความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองในการคลอดและแบบวัดความกลัวการคลอด ได้ค่าทดสอบความเชื่อมั่นที่ 0.94, 0.93 และ 0.90 ตามลำดับ ผลการศึกษาพบว่า ร้อยละ 27.1 ของสิ่งที่คาดหวัง แต่ไม่เกิดขึ้นจริงในระหว่างการคลอด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการได้รับยาลดปวดและการให้สามีหรือญาติอยู่ด้วยขณะรอคลอด ในขณะที่ร้อยละ 37.7 ของสิ่งที่หญิงตั้งครรภ์ไม่คาดหวัง แต่เกิดขึ้นจริงในระหว่างการคลอด ได้แก่ การทำคลอดโดยพยาบาล การงดน้ำงดอาหาร และการได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดเมื่อศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ทางสถิติ กับความพึงพอใจต่อประสบการณ์การคลอดบุตร พบว่า ความคาดหวัง ที่เกิดขึ้นจริงในการคลอด (T=40, p<0.001) การได้รับเตรียมการคลอด (r=17, p<0.01) การมีความเชื่อมั่นในศักยภาพตนเองในการคลอด (r=21, p<0.01) มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความพึงพอใจ ส่วนความกลัวการคลอด (r=-14, p<0.05) และการศึกษา (r=- 21, p<0.01) มีความสัมพันธ์ทางลบกับความพึงพอใจ

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2017-10-30

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ