ความมั่นใจในการทรงตัวของผู้สูงอายุไทยในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี

ผู้แต่ง

  • เขมภัค เจริญสุขศิริ คณะกายภาพบำบัด วิทยาลัยเซนต์หลุยส์
  • สิริพิชญ์ เจริญสุขศิริ คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

คำสำคัญ:

ผู้สูงอายุ, ความมั่นใจในการทรงตัว, ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ

บทคัดย่อ

การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาส่งผลให้ความมั่นใจในการทรงตัวของผู้สูงอายุลดลง งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์คือศึกษาความมั่นใจในการทรงตัวเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุในการทราบระดับความมั่นใจในการทรงตัวและใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุ งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ สุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง กลุ่มตัวอย่างคือผู้สูงอายุที่อาศัยในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานีจำนวน 35 คน เครื่องมือประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลและแบบประเมินความมั่นใจในการทรงตัว (Activities-spe-cific and Balance Confidence scale) ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างจำนวน 11 คนมีประสบการณ์หกล้มโดยเกิดขณะเดินที่ทางต่างระดับ ขณะเดินข้ามสิ่งกีดขวาง ขณะเดินบนพื้นลื่นและขณะเดินในบริเวณที่มืด จากแบบประเมินความมั่นใจในการทรงตัวพบว่าในแต่ละหัวข้อกลุ่มตัวอย่างมีคะแนนแตกต่างกัน หัวข้อที่กลุ่มตัวอย่างมีความมั่นใจในการทรงตัวระดับมากมี 5 จาก 16 หัวข้อคือเดินรอบบ้าน ก้มลงและหยิบรองเท้าจากตู้ หยิบกระป๋องขนาดเล็กจากชั้นวางของระดับสายตา กวาดพื้นและเดินออกจากบ้านไปยังที่จอดรถ ที่เป็นเช่นนี้อาจเนื่องมาจากหัวข้อดังกล่าวกระทำบนพื้นราบ มีความมั่นคงและเป็นกิจวัตรที่ทำเป็นประจำจนเกิดความเคยชิน ในขณะที่หัวข้อก้าวขึ้น–ลงบันไดเลื่อนเมื่อมือถือสิ่งของทำให้ไม่สามารถจับราวบันไดเลื่อนได้และเดินบนพื้นเปียกน้ำ มีคะแนนความมั่นใจในการทรงตัวต่ำที่สุด อาจเป็นเพราะเป็นหัวข้อที่มีการเปลี่ยนแปลงระดับศูนย์ถ่วงของร่างกาย มีพื้นที่ฐานรองรับน้อยและกระทำบนพื้นลื่นทำให้กลุ่มตัวอย่างทรงตัวได้ลำบาก

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2019-03-11

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ