ประสิทธิผลยาอมสมุนไพรมะขามป้อมในการลดอาการเจ็บคอเสียงแหบหลังการใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อวางยาสลบ
คำสำคัญ:
ยาอมสมุนไพรมะขามป้อม, อาการเจ็บคอ, เสียงแหบบทคัดย่อ
ยาอมสมุนไพรมะขามป้อมมีวิตามินซีและสารในกลุ่มแทนนินซึ่งมีสรรพคุณแก้หวัด แก้ไอ ช่วยลดอาการเจ็บคอปากคอแห้ง ทำให้เกิดอาการชุ่มชื้นในลำคอ ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาประสิทธิผลยาอมสมุนไพรมะขามป้อมเพื่อลดอาการเจ็บคอ เสียงแหบหลังใช้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไปชนิดใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นการศึกษาแบบทดลองประกอบด้วยกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยผู้วิจัย ผู้ป่วย และผู้ประเมินผลไม่ทราบว่าตัวอย่างผู้ป่วยอยู่กลุ่มใด (triple-blinded, randomized controlled trial) โดยศึกษาในช่วงเดือนตุลาคม 2553 ถึงมีนาคม 2554 เลือกศึกษาในผู้ป่วยหญิงอายุระหว่าง 15-75 ปี ที่มารับการผ่าตัดแบบไม่ฉุกเฉินและให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไปทางท่อช่วยหายใจ ในกลุ่มตัวอย่าง 300 คน โดยสุ่มตัวอย่างผู้ป่วยเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมแบบ block ran-domization กลุ่ม ๆ ละ 150 คน โดยการใช้ซองจดหมายแบบทึบ ซึ่งกลุ่มทดลองได้รับยาอมสมุนไพรมะขามป้อมสูตร 2 ของโรงพยาบาลพระยาอภัยภูเบศร และกลุ่มควบคุมได้รับยาหลอกที่มีลักษณะคล้ายยาอมสมุนไพร โดยทั้ง 2กลุ่มได้รับยาอม 2 เม็ด ก่อนให้ยาระงับความรู้สึก 30 นาที บันทึกข้อมูลทั่วไป cuff pressure และ airway pressure ทุกๆ 30 นาที ตลอดการผ่าตัด บันทึกอาการเจ็บคอและเสียงแหบ ที่ห้องพักฟื้น, 2 ชั่วโมง, 6 ชั่วโมงและ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบอัตราการเจ็บคอเสียงแหบ โดยใช้สถิติ chi-square test ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ผลการศึกษา พบว่าอายุ น้ำหนัก ASA physical status โรคประจำตัว และการผ่าตัด ในกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองไม่มีความแตกต่างกัน และพบว่ากลุ่มทดลองมีอาการการเจ็บคอ เสียงแหบน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงว่า ยาอมสมุนไพรมะขามป้อมสามารถลดอัตราการเกิดอาการเจ็บคอ เสียงแหบจากการใส่ท่อช่วยหายใจในการให้ยาระงับความรู้สึกอย่างไรก็ตามควรมีการประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วย และประเมินระยะเวลา ขนาดของยาอมสมุนไพรที่เหมาะสมตลอดจนการใช้ยาอมสมุนไพรมะขามป้อมในผู้ป่วยที่ยังมีอาการเจ็บคอเสียงแหบ ภายหลัง 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด
Downloads
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2017 Journal of Health Science- วารสารวิชาการสาธารณสุข
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.