ผลของโปรแกรมจัดการผู้ป่วยรายกรณี ในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้

ผู้แต่ง

  • อุบลรัตน์ รัตนอุไร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
  • ประภาส สงบุตร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง

คำสำคัญ:

โรคเบาหวาน, โปรแกรมจัดการผู้ป่วยรายกรณี, ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้

บทคัดย่อ

เป้าหมายของการรักษาโรคเบาหวานคือมุ่งที่จะลดหรือชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ โดยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ด้วยการมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม การดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการผู้ป่วยรายกรณีในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ เป็นงานวิจัยกึ่งทดลองแบบหนึ่งกลุ่มวัดก่อนและหลัง สุ่มตัวอย่างแบบง่าย จำนวน 38 คนที่ได้จากการคำนวณขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้สูตรการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย จากกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดมากกว่าร้อยละ 7.00 และรับบริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสวนซึ่งมีทั้งหมด 72 คน ระยะเวลาในการวิจัย 12 สัปดาห์ จัดโปรแกรมการจัดการผู้ป่วยรายกรณีที่ประกอบด้วยกิจกรรม การสร้างทีมสหวิชาชีพโดยมีผู้วิจัยเป็นพยาบาลผู้จัดการรายกรณี การพัฒนาแผนการดูแลผู้ป่วย การให้การดูแล ผู้ป่วยตามแผนการดูแลผู้ป่วย การประชุมทีมเพื่อปรับแผนการดูแลผู้ป่วยให้เหมาะสมกับปัญหารายบุคคล การให้ความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสนับสนุนโดยการเยี่ยมบ้าน และการสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การชื่นชม เก็บรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการดูแลตนเอง และระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเม็ดเลือดแดง ของกลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบก่อนและหลังเข้าโปรแกรมการจัดการผู้ป่วยรายกรณี วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้สถิติทดสอบ Paired t- test ผลการวิจัยพบว่า พฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ก่อนเข้าโปรแกรมจัดการผู้ป่วยรายกรณี มีคะแนนเฉลี่ย 3.22 (SD=0.19) หลังเข้าโปรแกรมจัดการผู้ป่วยรายกรณีครบ 12 สัปดาห์ มีคะแนนพฤติกรรมการดูแลตนเองเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 3.35 (SD=0.15) ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ส่วนระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดก่อนเข้าโปรแกรมจัดการผู้ป่วยรายกรณี มีค่าร้อยละ 8.97 หลังเข้าโปรแกรมจัดการผู้ป่วยรายกรณี มีระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดลดลงเหลือร้อยละ 7.39 ซึ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) จึงควรนำรูปแบบการจัดการผู้ป่วยรายกรณีมาปรับใช้ในหน่วยบริการให้เต็มรูปแบบ ด้วยการพัฒนาศักยภาพพยาบาลเวชปฏิบัติที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการจัดการผู้ป่วยรายกรณีให้มีมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นพยาบาลผู้จัดการ ผู้ป่วยรายกรณีอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยผู้ป่วยโรคเบาหวานควบคุมหรือชะลอภาวะแทรกซ้อนได้ดียิ่งขึ้น

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2019-06-28

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ